𝐅𝐨𝐮𝐧𝐝𝐚𝐭𝐢𝐨𝐧 𝐒𝟏𝐄𝐩𝟔 – ปัจเจกชนเปลี่ยนจักรวาล
หลังจากดูตอนที่ 6 ของ Foundation ทาง Apple tv+ จบ หลายๆ คนคงบอกได้ทันทีว่าแนวคิดของทีมเขียนบทคือการตีความใหม่ชนิดที่ไม่ยึดตามต้นฉบับเดิม ซึ่งอาจจะทำร้ายความรู้สึกแฟนหนังสือหลายคน โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “An entire galaxy pivoting around the actions of an individual, you.” แสดงว่ามีโอกาสที่การกระทำของปัจเจกชนสามารถเปลี่ยนชะตากรรมของจักรวาลได้ นั่นเท่ากับบอกว่าแผนการเซลด็อนและวิทยากรด้านอนาคตประวัติศาสตร์ (Psychohistory) ที่ว่าทำนายอนาคตของฝูงชนนับล้านกำลังสามได้ แต่ไม่สามารถทำนายพฤติกรรมของปัจเจกชนได้ เท่ากับว่าไม่สามารถใช้การได้เลย จริงหรือ?
แต่เอาเข้าจริงแล้วประเด็นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้แต่ในสามเล่มแรกที่อาซิมอฟเขียนขึ้นในยุค ’50 ก็ยังมีตัวละครอย่างมโนมัย (The Mule) และอื่นๆ อีกหลายคนที่มีพลังจิต (Mentalic – มโนมยิทธิ) เองบ้าง หรือถูกชักจูงด้วยพลังจิตบ้าง ทำให้มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินตามแผนการพันปีของเซลด็อน แสดงว่าเพียงการคำนวณอย่างเดียวคงไม่สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น และขยายขนาดของผลกระทบมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป หรือเข้าทำนอง “คนคำนวณไม่สู้ฟ้าลิขิต” จนถึงต้องมีทีมงานสนับสนุนอย่างลับๆ ที่คอยกำกับให้แผนการเดินไปตามทางได้
ช่วงนี้ผมพอมีโอกาสไปอ่านทวนหนังสือเล่ม 4-5 คือ Foundation’s Edge และ Foundation and Earth ที่อาซิมอฟเขียนต่อในยุค ’80 คือหลังจากจบสามเล่มแรกไปนานกว่าสามสิบปี ถึงได้เห็นว่าผู้เขียนเองก็ได้เปิดประเด็นที่ว่านี้ไว้ค่อนข้างชัด ว่าอนาคตของจักรวาลนั้น นอกจากการดำเนินตามแผนการเซลด็อนที่ชี้นำด้วยอนาคตประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีทางเลือกอื่นที่อาจดีกว่า… ซึ่งเป็นการพลิกที่ยิ่งกว่าพลิก จากแนวคิดหลักเดิมในสามเล่มแรกที่ยึดแผนการณ์เป็นหลักสำคัญ
แต่แนวทางไหนจะเป็นคำตอบสุดท้าย ก็ดันต้องไปอาศัย “ลางสังหรณ์” หรือ “ความหยั่งรู้” ของปัจเจกชนที่มีความสามารถพิเศษให้มาตัดสินใจเลือกอีก ถ้าจะใช้ศัพท์ยุคนี้คงต้องบอกว่า ผู้เขียนเองนั่นแหละที่ “ด้อยค่า” แผนการเซลด็อนไว้แล้วในระดับหนึ่ง คือไม่ถึงกับใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่การหยั่งรู้อนาคตแบบ 100% เรียกว่าเป็นแค่แนวทางที่มีการกำกับหรือชักใยให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการเท่านั้น
ความจริงผมคิดว่าผู้เขียนคืออาซิมอฟคงจะเขียนแนวนี้เพื่ออธิบายประเด็นที่ว่า ทำไมอนาคตที่ก้าวหน้าขนาดเดินทางเร็วกว่าแสงได้ ถึงยังไม่มีหุ่นยนต์หรือ AI ที่ก้าวหน้าทัดเทียมกันให้เห็น และเป็นทางเชื่อมต่อกับหนังสือของเขาเองในชุด “หุ่นยนต์” อีกหลายเล่มให้ร้อยเรียงต่อเนื่องกันได้หมด เพื่อจะโชว์ฝีมือในการแต่ง ว่าสามารถเอาเรื่องที่เคยเขียนแยกๆ กันไว้คนละชุด คนละสมัย และเมื่อนานมาแล้วด้วย มาแต่งเรื่องเพิ่มให้เชื่อมต่อกันได้ในที่สุด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผูกโยงได้ดีในระดับหนึ่ง
ดังนั้นหากซีรี่ส์จะออกมาในแนวนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจ ถึงแม้อาจจะไม่ค่อยถูกใจหลายๆ คนบ้างก็ตาม แต่อยากจะบอกว่า ที่ไม่เหมือนในหนังสือคงจะไม่ใช่มีแค่นี้ เพราะถ้าไปฟัง Foundation Official podcast มีที่ Executive Producer คือ David S. Goyer บอกใบ้ไว้ตั้งแต่ตอนแรกของ podcast แล้วประมาณว่า “คนที่เคยอ่านหนังสือจะคิดว่าเค้ารู้ว่าในห้องรโหฐาน (The Vault) มีอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเค้าคิดผิด”
ปล. แต่ละ episode จะมี podcast คู่กัน ซึ่งเป็นการคุยเบื้องหลังแต่ละตอน (สปอยล์แน่ๆ) ขอแนะนำให้ดูแต่ละตอนไปก่อนค่อยไปหาฟัง (ดาวน์โหลดได้จาก iTunes Store หรือผู้ใช้ iPhone/iPad/Mac ฟังจากแอพ Podcasts ได้เลย) ต้องขอบคุณคุณ Saran Phaloprakarn ด้วยที่แนะนำ podcast
*** Edit *** นึกเพิ่มได้ 1. ยุคนี้ใครจะสนใจเอ็นไซโคลปีเดีย (กาแล็กติก้า) กัน? คนเห็นกันแล้วว่าแค่เปิดดูใน wiki สร้างอาวุธเองไม่ได้ ต้องมีนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรที่มีประสบการณ์ ต้นแบบจากยาน invictous ที่อนาครีออนค้นพบ น่าจะนำไปสู่การพัฒนายานและอาวุธ ที่สร้างแสนยานุภาพให้สถาบันสถาปนาในอนาคต #เดา ส่วนสมดุลทางการเมืองกลายเป็นเรื่องรองหรือแค่พอๆ กัน ถ้ามีเทคโนโลยีอาวุธเหนือกว่าก็มีอำนาจต่อรองมากกว่า
2. นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็น “ชาวอวกาศ” (Spacer) แบบชัดๆ เต็มตัว ว่ามีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่ถูกปรับพันธุกรรม และสามารถทนต่อการตื่นในขณะที่ยานผ่านการ jump ได้ (ใน ep1 เห็นแวบเดียวไม่เต็มตัว) น่าจะดึงมาจาก Spacer ที่เป็นกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐาน 50 พิภพแรกนอกโลก ซึ่งปรากฏในนิยายชุดหุ่นยนต์ของอาซิมอฟ (อ้างถึงอีกครั้งในเล่ม 5 ด้วยรูปลักษณ์ที่ต่างจากยุคแรก)
ติดใจประเด็นศาสนา น่าจะนำไปสู่หนึ่งใน step ของการขยายอำนาจของเทอร์มินัสใน 3 ขั้นตอนตามเรื่องเดิม ศาสนา การค้า และอาวุธ แต่ไม่รู้ในซีรี่ส์จะเอาอะไรขึ้นก่อน
ปิดท้ายด้วยรูป The Vault ที่เรายังไม่รู้ว่าจะมีอะไรอยู่ข้างในกันแน่ละกัน