𝗖𝗮𝗽𝘁𝗮𝗶𝗻 𝗞𝗶𝗿𝗸 𝗴𝗼 𝘁𝗼 𝘀𝗽𝗮𝗰𝗲

เพื่อนที่คุ้นเคยกันคงพอรู้ว่าผมเป็นแฟนคลับของภาพยนตร์โทรทัศน์ชุด Star Trek ชนิดที่เคยไปคุยได้เป็นชั่วโมงในรายการ “ช่างคุย” บนช่อง YouTube มาแล้ว – https://youtu.be/x6WcvPJdsYg

วันนี้มีข่าวคุณ William Shatner ผู้แสดงเป็นกัปตันเคิร์ก แห่งยานอวกาศ USS Enterprise ใน Star Trek (The Original Series หรือ TOS) ที่นำยานไปที่ต่างๆ ในจักรวาลด้วยความเร็วเหนือแสง หรือ “วาร์ป” (ในหนัง) ได้มีโอกาสเดินทางขึ้นสู่อวกาศ (จริงๆ) เสียที — แม้จะเป็นแค่ขอบอวกาศ ประมาณเส้น Karman Line (อธิบายข้างล่าง) ก็ตาม — โดยเที่ยวบินอวกาศของบริษัท Blue Origin (ของมหาเศรษฐี Jeff Besoz ผู้ก่อตั้ง Amazon) แถมยังกลายเป็นเจ้าของสถิติผู้มีอายุมากที่สุดที่เคยไปอวกาศเสียด้วย ในวัย 90 ปี! ทำลายสถิติของคุณ Wally Funk (82 ปี) ที่เพิ่งจะขึ้นไปกับเที่ยวบินในลักษณะเดียวกันของ Blue Origin เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง

ถ้าย้อนไปดูประวัติของคุณ Shatner ต้องนับว่าเป็นคนโชคดีมากคนหนึ่ง เพราะหลังจากเล่นเรื่อง Star Trek ที่สร้างได้เพียง 3 season ก็ยุติไป แต่หลายปีถัดมากลับกลายเป็น cult ที่ยืนยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลากว่า 50 ปี ด้วยหนังใหญ่ 10 เรื่อง (Shatner ร่วมแสดงอยู่ 7 เรื่อง) และซีรี่ย์ที่ตามมารวมเกือบ 10 ชุด (นับอนิเมชั่นด้วย ทั้งชุด Star Trek: Animated series และ Lower Decks) รวมกว่า 800 ตอน จนทำให้เค้ากลายเป็น idol คนหนึ่งของบรรดาแฟน Sci-Fi ทั้งหลายไปในที่สุด และ Star Trek ก็ติดอันดับต้นๆ ของ franchise ที่มีมูลค่าสูงที่สุด ในระดับที่ไม่ห่างจาก Star Wars และ Marvel Cinematic Universe มากนัก (หรือถ้าจะจัดอันดับเฉพาะที่เป็น Sci-Fi จริงๆ แล้ว Star Trek จะอยู่อันดับ 1 เลยด้วยซ้ำ)

ส่วนตัวของ Shatner เองก็มีผลงานที่คนรู้จักในยุคหลังๆ บ้าง เช่น ซีรี่ย์ตำรวจจับผู้ร้ายอย่าง T.J. Hooker นิยายชุด TekWar (ไซไฟเกี่ยวกับโลกอนาคตที่เค้าวางโครงเรื่องแล้วให้นักเขียนอื่นมาลงรายละเอียดแทน) จนได้สร้างเป็นภาพยนตร์และซีรี่ย์หลายตอน หรือหลังปี 2000 ในวัยกว่า 70 ปีที่ไม่มีบทกัปตันเคิร์กให้แสดงในหนังใหญ่แล้ว (เพราะถูกเก็บตัวละครไปตั้งแต่ภาค Star Trek: Generations ในปี 1994) ก็ยังมีผลงานหนังดราม่าทนายความอย่าง Boston Legal อีกร้อยกว่าตอน แถมยังมีข่าวลือว่าเขาทำกำไรได้หลายร้อยล้านดอลลาร์จากการรับค่าตัวเป็นหุ้นในฐานะพรีเซ็นเตอร์ของ Priceline (เว็บประมูลชื่อดังยุคดอทคอมบูม แต่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเว็บจองโรงแรมหลัก 2 ใน 3 อันดับของโลกคือทั้ง Agoda และ Booking ในปัจจุบัน) แต่ต่อมาทางบริษัทได้ปฏิเสธข่าวนี้

และที่ต้องบอกว่าโชคดีที่สุดก็คือ ถึงจะอายุ 90 ปีแล้ว (เกิดปี 1931) แต่ Shatner ยังมีสุขภาพแข็งแรงดีพอที่จะเดินทางไปอวกาศได้ ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่นาทีก็ตาม ในขณะที่นักแสดงรุ่นเดียวกันจาก Star Trek จากไปก่อนแล้วหลายคน อย่าง Leonard Nimoy (Mr. Spock ลูกครึ่งชาววัลแคน จนท.วิทยาศาสตร์), James Doohan (Scotty หัวหน้าวิศวกร) หรือแม้แต่ผู้ให้กำเนิดไอเดียของ Star Trek อย่าง Gene Rodenberry ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 1991 ก็ยังทำได้แค่ส่งอัฐิเพียงไม่กี่กรัมขึ้นไปในวงโคจรรอบโลกกับกระสวยอวกาศ Columbia ในปี 1997 เท่านั้น

ช่วงนี้ทางมหาอำนาจชาติต่างๆ มีการส่งเที่ยวบินขึ้นไปอวกาศกันถี่ยิบเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะทางอเมริกา ซึ่งมีบริษัทเอกชนเข้ามาแจมด้วยหลายราย นอกเหนือไปจากภาครัฐอย่าง NASA แล้ว เช่น SpaceX ของ Elon Musk (Tesla), Blue Origin ของ Jeff Besoz (Amazon) หรือ Virgin Galactic ของ Sir Richard Branson (กลุ่มบริษัท Virgin) โดยมีทั้งที่ใช้จรวดไฮเทคแบบใช้ซ้ำได้อย่างของ SpaceX และ Blue Origin ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลงมาก (แถมจรวดเดินเครื่องชะลอความเร็วเพื่อถอยหลังลงจอดได้ยังกะในหนังไซไฟยุคโบราณ ซึ่งจริงๆ ทำยากสุดๆ เลยนะนั่น) ส่วนตัวแคปซูลที่บรรทุกผู้โดยสารก็ลงพื้นโดยร่มชูชีพ หรือจะใช้การปล่อยยานเล็กที่เกาะไปกับเครื่องบินลำใหญ่ในระดับความสูงมากพอสมควร เรียกว่าติดเครื่องยนต์จรวดอีกไม่กี่นาทีก็ถึงอวกาศแล้ว แต่บินอยู่ในอวกาศได้ไม่กี่นาทีก็จะหมดเชื้อเพลิง และต้องร่อนลงสนามบินคล้ายๆ เครื่องบินทั่วไป ซึ่งวิธีหลังนี่ใช้โดย Virgin Galactic

ใสำหรับนิยามที่ว่าขึ้นไป “ถึง” อวกาศมั้ยนั้น ก็ดูกันที่ว่ายานโดยสารสามารถขึ้นถึงระดับความสูงที่เรียกว่า Karman Line ที่ความสูงจากพื้นโลกประมาณ 100 กม. ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็คือไปถึงอวกาศแล้ว ซึ่งเส้นหรือความสูงที่ว่านี้ก็คือระดับที่ “สุด” ชั้นบรรยากาศของโลกจริง โดยตั้งชื่อตาม Theodore von Kármán นักวิทยาศาสตร์ด้านการบินและอวกาศคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 ชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการี ซึ่งเป็นคนแรกที่คำนวณออกมาว่าที่ความสูงระดับนี้ขึ้นไป ชั้นบรรยากาศโลกจะมีความหนาแน่นน้อยมากจนไม่มีแรงช่วยยกใดๆ สำหรับยานที่มีปีกได้เลย ดังนั้นยานที่จะขึ้นไป ณ ระดับนี้ได้จะต้องมีกำลังเครื่องยนต์ (จรวด) ที่มีแรงขับมากจนสามารถเอาชนะแรงดึงดูดของโลกได้เองเท่านั้น (ส่วนจะอยู่ได้นานแค่ไหนก็แล้วแต่เชื้อเพลิงที่มีและความเร็วที่เร่งเอาไว้ตอนต้น)

ในขณะที่ไม่กี่วันก่อนนี้ ทางหน่วยงานอวกาศของรัสเซียหรือ Roscosmos ก็เพิ่งจะส่งทีมนักแสดงและตากล้องรวม 3 คนขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเป็นครั้งแรกที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และก่อนนั้นเพียงไม่กี่วัน ทาง SpaceX ก็เพิ่งจะส่งทีมนักเดินทางที่ไม่ได้ฝึกมาเป็นนักบินอวกาศอย่างเป็นทางการ 4 คนขึ้นไปโคจรรอบโลกในวงโคจรที่สูงหลายร้อย กม. เลย ISS ออกไปอีกเป็นครั้งแรก นาน 3 วัน ดูภาพรวมๆ แล้วก็เป็นการเปิดยุคการเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยคนธรรมดาที่เรียกได้ว่ามาถึงเสียที ถึงแม้จะช้ากว่าที่ใครๆ คาดการณ์กันไว้หลายสิบปี คือกว่า 50 ปีหลังจากมนุษย์สามารถไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกในปี 1969

มารอดูกันว่าอีกกี่ปีมนุษย์เราถึงจะสามารถกลับไปเยือนดวงจันทร์ได้อีกครั้ง และอีกกี่ปีถึงจะไปดาวอังคารได้….

ขอปิดท้ายด้วยคำบรรยายของกัปตันเคิร์ก ที่ขึ้นต้นทุกตอนว่า “Space, the final frontier..”.

#SciFi#space#StarTrek