6 วิธีเลือก Power Bank ที่ควรรู้

ปัจจุบันถ้าเราบอกว่าสมาร์ทโฟนเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 ที่ใครๆ ต้องมีแล้ว แบตเตอรี่สำรองหรือ Power Bank ก็คงจะนับเป็นปัจจัยที่ 6 คือใครๆ ที่ใช้สมาร์ทโฟนก็มักจะต้องพกติดตัวไว้ เผื่อกรณีใช้งานหนักๆ แล้วแบตหมด หาที่เสียบปลั๊กชาร์จไม่ได้หรือไม่สะดวกเพราะไปๆ มาๆ ไม่อยู่กับที่ตลอด จะได้ไม่ขาดตอนการออนไลน์

พาวเวอร์แบงก์ที่ขายกันก็มีหลากหลายยี่ห้อ แตกต่างกันทั้งความจุ น้ำหนัก ความสามารถในการชาร์จไฟ ราคา ฯลฯ เราจะมาดูกันว่าในการเลือกซื้อนั้นจะมีอะไรต้องพิจารณาบ้าง ซึ่งสรุปได้ 6 ข้อดังนี้

พาวเวอร์แบงก์เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟน ภาพ: Wikipedia

พาวเวอร์แบงก์เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับสมาร์ทโฟน ภาพ: Wikipedia

1. มีความจุพลังงานไฟฟ้ากี่ mAh?

ข้อนี้เป็นอย่างแรกที่จะเห็นคนขายบอกมา มีตั้งแต่ก้อนละ 2 – 3,000 จนถึง 1 – 20,000 mAh หรือบางทีมากกว่านั้น คิดง่ายๆ ว่าก้อนใหญ่ก็ยิ่งจุพลังงานมาก น่าจะดี แต่ข้อเสียที่ตามมาคือ มักจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากตามมาได้

  • แนะนำ : เลือกให้พอกับการใช้งาน 1-2 วัน แล้วแต่ว่าคุณมีเวลาชาร์จเพื่อเติมพลังเข้าพาวเวอร์แบงก์บ่อยแค่ไหน ถ้าชาร์จได้ทุกวัน ก็มาดูว่าในวันหนึ่งๆ คุณมักต้องชาร์จอุปกรณ์ที่มีทุกตัวรวมกันกี่รอบ เช่น
    • มีสมาร์ทโฟนจอเล็กกับแท็บเบล็ตอย่างละ 1 เครื่อง สมาร์ทโฟน (แบตเตอรี่ภายในประมาณ 2-3,000 mAh – ดูเรื่องความจุพลังงานของ Power Bank หัวข้อถัดไป) มักจะต้องชาร์จแบตวันละ 2 รอบ แท็บเบล็ต (แบตเตอรี่ภายในประมาณ 5-6,000 mAh) 1 รอบ อย่างนี้ก็แนะนำให้ใช้ความจุไม่ต่ำกว่า 3,000 x 2 + 6,000 = 12,000 mAh หรือถ้าหนักไปก็อาจลดมาเหลือประมาณ 10,000 mAh
    • สมาร์ทโฟนจอใหญ่ 1 เครื่อง (แบตเตอรี่ภายในประมาณ 3,000 mAh ขึ้นไป) มักจะต้องชาร์จแบตวันละ 1 รอบ อย่างนี้อาจใช้แค่ 3,000 mAh ก็พอ
  • ข้อควรระวัง: ยิ่งความจุสูง ชาร์จอุปกรณ์อื่นได้นาน เวลาที่ต้องใช้เพื่อชาร์จไฟเข้าพาวเวอร์แบงก์ให้เต็มก็มักจะนานตามไปด้วย

ความจุพลังงานของ Power Bank

ปกติบนตัว Power Bank จะระบุความจุพลังงานไว้เป็นหน่วย mAh หรือ Wh ดังนี้

fullsizerender-8

  • หน่วย mAh (milliAmpere hour) วัดปริมาณพลังงานเป็นกระแสไฟฟ้าที่จ่ายได้ต่อชั่วโมง ถ้าจ่ายได้มากก็แสดงว่ามีพลังงานเก็บไว้ได้มาก เช่น 2,000 mAh คือสามารถจ่ายไฟ 2,000 milliampere ต่อเนื่องได้นาน 1 ชั่วโมง)
  • มีบางที่กำหนดเป็นหน่วย Wh (Watt hour) คือคำนวณจากว่า Power Bank ทั่วไปจะจ่ายไฟที่แรงดัน 5 โวลต์ (V = Volt) คำนวณเป็นค่า “กำลังไฟฟ้า” ที่จ่ายได้ต่อชั่วโมงโดยเอา Volt x milliAmpere hour /1000) = Watt hour
    ดังนั้น 10,000 mAh จึงเท่ากับ 5 x 10000/1000 = 50 Watt hour หรือ 50 Wh
บอกค่าความจุพลังงานของแบตเตอรี่ 3.6 volt x 10500 mAh = 3.6 volt x 10.5 Ah = 36.18 Wh

บอกค่าความจุพลังงานของแบตเตอรี่ 3.6 volt x 10500 mAh = 3.6 volt x 10.5 Ah = 36.18 Wh

บางรุ่นก็บอกเป็นค่า Output ในการชาร์จที่ 5 volt ค่าหนึ่งคือ 3000 mAh ในขณะที่แรงดันจากแบตเตอรี่จริงคือ 3.7 volt x 5000 = 17.5 Wh

บางรุ่นก็บอกค่า Output ในการชาร์จที่ 5 volt x 3000 mAh = 15 Wh ในขณะที่พลังงานในแบตเตอรี่คือ 3.7 volt x 5000 = 17.5 Wh

  • ความจุพลังงานไฟฟ้าที่แท้จริง: บางยี่ห้อจะบอกสองค่าแยกกันคือ ความจุพลังงานของแบตเตอรี่ (ปกติประมาณ 3.7 volt) ค่าหนึ่ง กับความจุพลังงานที่จ่ายออกมาชาร์จอุปกรณ์ได้ (Output ที่ 5 volt ตามมาตรฐาน USB) อีกค่าหนึ่ง ซึ่งจะตำ่กว่าค่าความจุพลังงานของแบตเตอรี่เล็กน้อย เพราะพลังงานที่เก็บไว้พอผ่านวงจรแปลงให้มีแรงดันไฟฟ้าสูงพอจะชาร์จอุปกรณ์ได้นั้น จะมีการสูญเสียกลายเป็นความร้อนไปส่วนหนึ่ง หากวงจรทำงานดีก็จะสูญเสียน้อย ดังนั้นพาวเวอร์แบงก์ที่แบตเตอรี่ที่จุ 5,000 mAh ที่ 3.7 volt (คำนวณได้ 17.5 Wh) เวลาชาร์จไฟ 5 volt ออกมาก็อาจได้เพียงประมาณ 3,000 mAh (คำนวณได้ 15 Wh เท่านั้น) เท่านั้น
  • นอกจากนี้ยังไม่นับบางรายที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจบอกค่าไม่ตรงตามความเป็นจริงอีกด้วย ดังนั้นหากดูขนาดและน้ำหนักไม่สมเหตุสมผลกับความจุพลังงานที่บอก เช่นตัวเล็กนิดเดียวแต่บอกว่าจุถึง 20,000 mAh ก็อาจเป็นได้ว่าค่าที่บอกนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง

2. ชนิดของแบตเตอรี่ มีผลกับขนาดและน้ำหนัก

โดยปกติภายในพาวเวอร์แบงก์ จะประกอบด้วยแบตเตอรี่ วงจรแปลงไฟสำหรับการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ และวงจรแปลงไฟออกสำหรับชาร์จอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งตัวแบตเตอรี่นี้เองที่จะทำให้พาวเวอร์แบงก์หนักหรือเบา เพรียวบางหรือหนาเทอะทะ

  • ภาษาเทคนิค: แบตเตอรี่ภายในของพาวเวอร์แบงก์ อย่างน้อยก็มักจะเป็นแบบ ลิเทียม-ไอออน (Lithium ion หรือ Li-ion) หรือถ้ารุ่นที่ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ก็อาจจะเป็นแบบ ลิเทียมโพลีเมอร์ (Lithium polymer หรือ Li-Po) ซึ่งราคาจะแพงกว่านิดหน่อย
  • แนะนำ: เลือกขนาดและน้ำหนักแค่พอดีๆ เท่าที่สะดวกต่อการใช้งาน ถ้ามันใหญ่เกะกะหรือหนักเกินไป คุณอาจจะไม่อยากจะพกมันไปทุกวันทุกที่ กลายเป็นความไม่สะดวกแทน นอกจากนี้หากเลือกแบบ Li-Po ได้ก็จะน้ำหนักเบาลงนิดหน่อย

3. หัวเสียบชาร์จไฟออก

ปกติจะเป็นหัวต่อแบบ USB ซึ่งดูเหมือนๆกัน แต่ความจริงแล้วไม่เหมือนกันทีเดียวนัก คือบางแบบก็มีหัวเดียว (ชาร์จได้ทีละอุปกรณ์เดียว) หรือสองหัว (สองอุปกรณ์พร้อมกัน) ซึ่งมีรายละเอียดอีกคือ

  • กรณีมีหัวเดียว ต้องดูว่าชาร์จหรือจ่ายไฟออกไปให้สมาร์ทโฟนได้มากแค่ไหน ปกติขั้นต่ำจะได้ไม่น้อยกว่า 0.5 mA ซึ่งพอสำหรับสมาร์ทโฟนระบบ Android ทั่วไป แต่ถ้าเป็น iPhone จะต้องจ่ายไฟได้อย่างน้อย 1 mA หรือถ้าจะใช้ชาร์จแท็บเบล็ตอย่าง iPad ก็จะต้องจ่ายไฟได้อย่างน้อย 2 หรือ 2.1 mA จึงจะใช้งานได้ (น้อยกว่านั้นจะชาร์จไม่เข้าหรือระดับไฟไม่เพิ่มขึ้นเลย) ปกติถ้าจ่ายไฟได้มากก็จะชาร์จอุปกรณ์ได้เต็มเร็วขึ้นด้วย
  • กรณีมีสองหัว ก็ต้องดูต่อว่าเป็นแบบไหนซึ่งมีหลายอย่าง เช่น
    • สองหัว จ่ายไฟได้น้อยทั้งคู่ คือได้หัวละ 0.5 A เท่าๆ กัน อันนี้จะราคาถูกสุด และชาร์จได้กับ Android เป็นหลัก
    • สองหัว จ่ายไฟได้ไม่เท่ากัน (แบบกำหนดตายตัว) โดยมากมักทำเครื่องหมายไว้ด้วยเลยว่าหัวหนึ่งเป็น 1A สำหรับชาร์จ iPhone (บางอันอาจเขียนว่า iPhone/iPod – ซึ่ง iPod เป็นเครื่องเล่นเพลงอย่างเดียวและกินไฟน้อยกว่า iPhone จึงใช้กันได้ ระวังอย่าสับสนกับ iPad) และอีกหัวหนึ่งเป็น 2A หรือ 2.1A สำหรับชาร์จ iPad (หัวที่จ่ายไฟได้มาก จะใช้ชาร์จอุปกรณ์อื่นที่ใช้ไฟน้อยกว่าก็ได้ไม่มีปัญหา และอาจจะเต็มเร็วขึ้นด้วยถ้าอุปกรณ์นั้นรองรับกระแสไฟที่มากขึ้นนั้นได้) แบบนี้จะราคาสูงขึ้นมาหน่อย และเวลาเสียบชาร์จอุปกรณ์ก็ต้องให้ถูกหัวด้วย เช่นจะชาร์จ iPad ก็ต้องเสียบหัวที่เขียนว่า iPad หรือ 2A จึงจะชาร์จเข้า
    • สองหัว แบบจ่ายไฟได้ไม่เท่ากัน โดยไม่กำหนดตายตัว แต่จำกัดค่ากระแสไฟรวมว่าชาร์จได้ไม่เกินเท่าไหร่ เช่น 1+ 2.1 = 3.1 A แล้วมีวงจรจัดการให้อัตโนมัติว่าหัวไหนเสียบอุปกรณ์อะไร ต้องใช้ไฟมากหรือน้อยก็จ่ายให้ตามนั้น วิธีนี้ตอนชาร์จจะสะดวกคือเสียบอุปกรณ์ไหนกับหัวไหนก็ได้ไม่ต้องดูให้ถูก แต่ราคาจะสูงขึ้นอีกหน่อยเพราะต้องมีวงจรบริหารการจ่ายไฟให้สมดุลย์โดยอัตโนมัติ (บางทีก็เขียนว่า auto IC หรือ Auto balance อะไรประมาณนี้) เพิ่มเข้ามา
พาวเวอร์แบงก์แบบสองหัวเสียบ แบ่งกำลังไฟอัตโนมัติ รวมกันไม่เกิน 3.4 A และชาร์จไฟเข้าเร็ว (2A)

พาวเวอร์แบงก์แบบสองหัวเสียบ แบ่งกำลังไฟอัตโนมัติ รวมกันไม่เกิน 3.4 A และชาร์จไฟเข้าเร็ว (2A)

  • ภาษาเทคนิค: 0.5, 1, 2 หรือ 2.1 A ตัว A คือ Ampere เป็นหน่วยวัดกระแสไฟฟ้าที่จ่ายออกมาได้ หรืออาจเขียนเป็น mA คือ milliampere ก็ได้ โดย 1,000 mA = 1 A (ต่างจากการวัดความจุพลังงานในข้อ 1 ที่เป็น mAh หรือ milliampere-hour)

4. หัวเสียบชาร์จไฟเข้า

ปกติก็จะเป็นหัวแบบ USB ขนาดเล็กแบบเดียวกับที่ใช้ชาร์จโทรศัพท์ Android แต่มักมีข้อมูลที่ไม่บอกกันก็คือ ความสามารถในการรับไฟเข้า ซึ่งปกติมักจะทำมาให้รองรับตัวชาร์จ (Charger) หรืออะแดปเตอร์ที่เสียบไฟบ้านทั่วไป

  • แนะนำ: ปกติตัวชาร์จทั่วไปมักจะจ่ายไฟออกมา 0.5-1 A เหมือนๆ กัน แต่มีพาวเวอร์แบงก์บางรุ่นบางยี่ห้อทำมาให้ชาร์จไฟเข้าได้เร็วขึ้น (เต็มเร็วขึ้น) ก็เอามาโชว์เป็นจุดเด่น เช่นรับไฟได้ 2A เป็นต้น แต่กรณีนี้ตอนชาร์จก็ต้องเสียบเข้าจากหัว USB ที่จ่ายได้ 2A เช่นกัน ไม่งั้นก็ไม่แตกต่าง

5. ระบบการเริ่มและหยุดชาร์จ

พาวเวอร์แบงก์บางแบบเมื่อเสียบสายแล้วต้องกดปุ่มก่อนจึงจะเริ่มจ่ายไฟ ถ้าไม่กดก็ยังไม่ชาร์จ (เพื่อประหยัดไฟ แต่บางทีผู้ใช้ก็ลืมกดปุ่มทำให้ไม่ชาร์จสักที) แต่บางแบบเสียบสายแล้วก็เริ่มชาร์จเลย ส่วนการหยุดชาร์จโดยทั่วไปจะหยุดอัตโนมัติเมื่อเต็ม แต่บางแบบถ้าไม่มีปุ่มกดเริ่มชาร์จ ก็อาจหยุดอัตโนมัติไม่ได้ และอาจแนะนำให้ผู้ใช้ถอดสายออกจากฝั่งพาวเวอร์แบงก์เองด้วยเมื่อชาร์จเต็มแล้วก็มี (ไม่สะดวกตรงห้ามเสียบสายค้างไว้)

6. ไฟสัญญาณแสดงพลังงานที่เหลือ

ไฟบอกระดับพลังงานที่เหลือของพาวเวอร์แบงก์

ไฟบอกระดับพลังงานที่เหลือของพาวเวอร์แบงก์

ปกติพาวเวอร์แบงก์จะมีไฟสัญญาณบอกพลังงานที่เหลือด้วย แต่ก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันนัก ยังมีแตกต่างกันบ้าง บางแบบก็ใช้ไฟเป็นแถวเรียงกัน ถ้าติดมากดวงก็มีพลังงานไฟฟ้ามาก ซึ่งดูง่าย บางแบบมีไฟดวงเดียวแต่ใช้การกระพริบถี่หรือห่างต่างกันเพื่อบอกระดับพลังงาน แต่ทั้งสองแบบไฟมักจะติดเฉพาะเวลาที่กดปุ่มดู จะได้ไม่เปลืองไฟ อันนี้เป็นเรื่องปลีกย่อย

จังหวะการกระพริบบอกพลังงานไฟฟ้าที่เหลือ

จังหวะการกระพริบบอกพลังงานไฟฟ้าที่เหลือ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือสิ่งที่ควรพิจารณาเวลาเลือกซื้อ Power bank ซึ่งจะมามีผลกับตัวเลขสุดท้ายคือ “ราคา” เพราะของดีก็มักมีราคาสูง แต่ขณะเดียวกันถ้าของไม่มีคุณภาพ ก็อาจมีปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น

  • ความทนทานต่ำ ใช้ได้ไม่นานก็เสีย ชาร์จไฟไม่เข้า (ไม่เก็บไฟ) หรือชาร์จอุปกรณ์ไม่ได้
  • เกิดความร้อนตอนชาร์จไฟเข้าหรือออก ซึ่งอาจร้อนจนเกิดอันตราย เกิดระเบิดหรือไฟใหม้ตามมาได้

ส่วนข้อควรระวังอีกอย่างก็คือเวลาเอาพาวเวอร์แบงก์ขึ้นเครื่องบิน อันนี้ตามไปอานที่อีกโพสต์หนึ่งเลยครับ ตามนี้
จะนำแบตเตอรี่สำรองขึ้นเครื่องบินได้ถึงขนาดเท่าไหร่?