รถยนต์ไฟฟ้า (จะ)มาแล้วนะเธอ
“สรุป” เรื่องรถยนต์ไฟฟ้า – ช่วงนี้เห็นข่าวเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าออกมาถี่ เลยรวบรวม 12 ข้อที่ควรรู้มาเล่าสู่กันฟัง ทั้ง Tesla Model 3, Nissan Leaf, BYD, Chevy Bolt และรวมถึง infrastructure ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จไฟ แหล่งพลังงาน ความคุ้มค่าเทียบกับเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE – Internal Combustion Engine) แต่ใครรู้มากกว่า ถูกกว่า คอมเมนท์เสริมมาได้เลยนะครับ
- หลายคนคงรู้จัก Tesla บริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดัง ที่ก่อตั้งโดย อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งรวยมาจากการเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Paypal บริการรับจ่ายเงินออนไลน์รายแรกๆ และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีที่กว้างไกลคนหนึ่ง เพราะนอกจากจะสร้างรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาให้ไปกวาดรางวัลรถยนต์ยอดเยี่ยมมาจากหลายๆ เวทีแล้ว ยังพยายามจะสร้าง “ระบบนิเวศน์” ของรถยนต์ไฟฟ้า เช่นสถานีชาร์จ ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ระบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปขนาดใหญ่สำหรับเก็บไฟที่ผลิตได้ไว้ชาร์จรถและใช้งานอื่นๆ ในบ้านด้วย รวมถึงยังเป็นเจ้าของบริษัทบุกเบิกอวกาศอย่าง SpaceX ที่เป็นหนึ่งในคู่สัญญากับองค์การ NASA รับยิงจรวดขนส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ส่งของให้สถานีอวกาศนานาชาติ และมีแผนจะส่งคนไปสำรวจดาวอังคารด้วย (มีข่าวดีเมื่อหลายเดือนก่อนที่จรวดของ SpaceX เดินเครื่องยนต์ถอยหลังลงจอดอย่างปลอดภัยกลางฐานรับบนทะเลราวกับหนังการ์ตูน จนสามารถนำจรวดไปใช้ซ้ำอีกได้ ประหยัดค่าใช้จ่ายสร้างจรวดใหม่ได้มากเพราะไม่ต้องทิ้ง แต่ข่าวร้ายเมื่อสัปดาห์ก่อนคือจรวดอีกลำใหม่เอี่ยมของ SpaceX ที่กำลังเตรียมส่งดาวเทียมของ Facebook ดันระเบิดแหลกยับคาฐานยิงไปสะงั้น)
. - รถยนต์เทสลาได้ชื่อว่ามีคุณภาพเป็นเลิศ แต่ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ ที่ออกมาแล้วเช่น Model S และ Model X นี่ราคาราวๆ แสนดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 3-4 ล้านบาท คือพอฟัดพอเหวี่ยงกับพวกรถยุโรปหรูๆ เลย แต่เรื่องสมรรถนะเช่นอัตราเร่งนี่ก้าวข้ามรุ่นไปชกกับรถสปอร์ตซูเปอร์คาร์คันละเป็นสิบๆ ล้านได้สูสี ก็เลยได้รับความนิยมฮือฮากันพอสมควรในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ใช่ราคารถสำหรับคนทั่วไปซื้อหาได้
. - ที่รถเทสลามีสมรรถนะดีขนาดนั้นต้องขอบคุณระบบขับเคลื่อนที่ไม่มีเครื่องยนต์แบบที่ไม่ใช้น้ำมันเลย ไม่ว่าจะเบนซินหรือดีเซล มีแต่มอเตอร์ไฟฟ้าเพียวๆ โดยรุ่นเล็กก็มีมอเตอร์ตัวเดียว รุ่นใหญ่ก็ใส่เพิ่มเข้าไปเป็น 2 หรือ 3 ตัว ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้านี่มีคุณสมบัติเฉพาะตามหลักฟิสิกส์คือเปิดไฟใส่ปุ๊บแรงมาปั๊บ ตอนออกตัวรถจึงพุ่งทันทีโดยไม่ต้องรอรอบ เรียกว่าตีนต้นนี่กินขาด ถึงกับบางรุ่นมีโหมด “บ้าไปแล้ว” (insane mode) หรือโหมด “น่าขันเหลือเชื่อ” (Ludicrous mode) ให้ผู้ขับขี่ทดลองกดดูว่าถ้าเร่งสุดๆ แล้วจะเป็นยังไง มีคลิปลงยูทูบด้วยว่าผู้ขับลองแล้วทำหน้าเหวอกันทุกคน เพราะมันแรงชนิดหลังจมเบาะจริงๆ (ไม่ใช่ว่าเป็นมอเตอร์พิเศษ แต่กฏของแรงแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้มันเป็นแบบนั้น)
. - ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine -ICE) นั้นโดยธรรมชาติจะมีแรงน้อยที่รอบต่ำ ถ้าจะให้แรงต้องรอเร่งเครื่องสักนิดนึงก่อน แถมตอนจอดรถติดก็ต้องติดเครื่องไว้ที่รอบต่ำๆ (“เดินเบา”) ทำให้เปลืองน้ำมัน ซึ่งก็เป็นที่มาของเครื่องแบบ “ลูกผสม” หรือ ไฮบริด (Hybrid) ที่เอามอเตอร์มาช่วยประกบกับเครื่องยนต์ พอตอนออกตัวก็ใช้แรงจากมอเตอร์ (ตัวเล็กหน่อย) ช่วย พอออกตัวได้แล้วเครื่องยนต์ก็เข้ามารับช่วงต่อ ทำให้ออกตัวได้ดีประมาณว่าเครื่อง 1,800 cc ออกตัวเหมือนเครื่อง 2,400 cc แต่ประหยัดน้ำมันกว่าเท่านึง คือจิบๆ แบบเครื่อง 1,200 cc อะไรทำนองนั้น
. - ที่บริษัทรถยนต์อื่นๆ ยังไม่ทำรถไฟฟ้าออกมานั้น ก็เพราะติดเรื่องแบตเตอรี่และสถานีชาร์จ เพราะแบตเตอรี่เมื่อไม่กี่ปีนั้นก่อนนั้นเก็บไฟได้จำกัด ทำให้ชาร์จไฟเต็มแล้ววิ่งได้แค่ร้อยหรือสองร้อยกว่ากิโลเมตร ซึ่งน้อยไปสำหรับประเทศกว้างใหญ่ที่ใช้รถยนต์เยอะแบบอเมริกา เช่นขับภายในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยกันอย่างจากเมือง San Francisco ไป Los Angeles ก็ห่างประมาณกรุงเทพ-เชียงใหม่แล้ว แล้วจะไปหาที่ชาร์จไฟกลางทางที่ไหนตั้ง 2-3 รอบกว่าจะถึง บริษัทอื่นเลยทำเป็นแต่รถต้นแบบ สำหรับวิ่งระยะใกล้ๆ ในเมืองเดียวกัน แถมต้นทุนแบตเตอรี่ก็ยังค่อนข้างสูง ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เทสลามุ่งมั่นทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เช่นนอกจากชาร์จไฟธรรมดาที่บ้านในเวลา 3-4 ชั่วโมงได้แล้ว ยังมีการติดตั้งเครื่องชาร์จด่วนหรือ Supercharger ที่ติดตั้งตามสถานีบริการกว่า 700 แห่งกระจายอยู่ตามทางหลวงสายหลักทั่วสหรัฐอเมริกา ที่สามารถชาร์จจนวิ่งได้ระยะเกือบสามร้อย กม. ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ระหว่างนั้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่และอิเล็กทรอนิกส์ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ทำให้รถวิ่งได้ไกลขึ้น ล่าสุดเดือนที่แล้วผู้ใช้เทสลาสามารถนำรถรุ่นเก่าไปอัพเกรดแบตเตอรี่เป็นรุ่นใหม่แล้ววิ่งได้ไกลขึ้นอีกเป็น 500 กม. ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งแล้ว ซึ่งไกลพอๆ กับเติมน้ำมันเต็มถังเลย
. - ทีนี้หลังจากทำรถหรูราคาแพงมาหลายปี เพื่อสร้างผลกำไรให้บริษัทเติบโตและสะสมทุน เมื่อต้นปี 2016 นี้เทสลาก็ประกาศว่าจะสร้างรถไฟฟ้าในราคาระดับมหาชนขึ้นมาบ้าง คือราคาราวๆ ล้านกว่าบาท พอๆ กับรถญี่ปุ่นระดับกลางๆ ซึ่งการที่จะทำราคานี้ได้ก็ต้องผลิตชิ้นส่วนสำคัญและแพงที่สุด คือแบตเตอรี ให้ได้จำนวนมากในราคาต่ำ จึงลงทุนร่วมกับเจ้าเทคโนโลยีแบตเตอรีของโลกคือ Panasonic ของญี่ปุ่น สร้าง “อภิมหาโรงงาน” หรือ Gigafactory ซึ่งเป็นอาคารใหญ่ที่สุดในโลก ขึ้นบนพื้นที่ราบแห้งแล้งของรัฐเนวาดา ใกล้เมือง Reno โดยเพิ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตได้เมื่อต้นปีนี้ ขณะเดียวกันกว่าจะพัฒนาเสร็จและส่งมอบรถ Model 3 รุ่นแรกได้ก็ราวปลายปีหน้า (2017) ถ้าไม่มีอะไรล่าช้ากว่าแผน (ซึ่งถ้าดูประวัติแล้วเทสลาเองก็ออกรถได้ล่าช้ากว่าแผนมาหลายหนแล้วเหมือนกัน) แต่ก็ (ช่าง) กล้าที่จะเปิดรับจองตั้งแต่หลายเดือนก่อน ในราคามัดจำคันละ 1,000 ดอลลาร์หรือสามหมื่นกว่าบาท แต่ปรากฏว่าดันมีลูกค้าที่ (ช่าง) กล้ากว่า แห่กันมาจองทางเว็บพรึ่บเดียวกว่า 400,000 คัน (จ่ายมัดจำแล้วด้วย!) งานนี้น่าจะทำให้เทสลาได้เงินสดไปหมุนฟรีๆ ถึงกว่าหมื่นห้าพันล้านบาท!
. - เรื่องนี้กระตุกให้ค่ายรถยนต์ทุกค่ายทั่วโลก (ซึ่งความจริงก็แอบพัฒนารถไฟฟ้ากันอยู่แล้วเงียบๆ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่) รวมทั้งผู้บริโภคทั่วไปในต่างประเทศ และในประเทศที่ยังไม่มีทางเลือกอย่างเรา ตื่นตกใจว่า “รถไฟฟ้าจะมาแล้วนะเธอว์” กลายเป็น talk of the world ไปแล้วว่าการเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้าจะมาทำลายล้าง (disrupt) อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์แบบเดิมๆ ที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งมีส่วนประกอบมากมายมหาศาล คือในขณะที่รถไฟฟ้ามีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวที่สึกหรอง่ายประมาณ 20 ชิ้น เทียบกับรถใช้เครื่องยนต์ที่มีประมาณ 2,000 ชิ้นน้อยกว่าถึง 100 เท่า ประกอบง่ายกว่า ซ่อมบำรุงน้อยกว่า ค่าพลังงานที่ใช้ต่อระยะทาง 1 กม. ก็ถูกกว่าอย่างน้อยเท่าตัว (ขณะเดียวกันก็มีบางงานวิจัยที่แย้งว่าต้นทุนการใช้งานรถไฟฟ้าไม่ได้ถูกกว่าเครื่องยนต์มากขนาดนั้น เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมาก และประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันยังสามารถปรับปรุงได้อีกพอสมควร) เหลือปัญหาเรื่องการหาสถานีชาร์จไฟเมื่อวิ่งทางไกล และเวลาที่ต้องใช้ชาร์จอย่างน้อย 15-30 นาที เทียบกับการเติมน้ำมัน 3 นาทีเต็มถังเท่านั้นที่ตอนนี้ยังแก้ไม่สำเร็จ (แต่ในอนาคตก็ไม่แน่)
. - เมื่อเร็วๆ นี้ค่ายรถญี่ปุ่นหลายแห่งออกมาแสดงความเห็นคล้ายๆ กันว่า สำหรับเมืองไทยแล้วการเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันไปสู่รถไฟฟ้านั้น ควรจะต้องผ่านขั้นตอนตรงกลาง คือรถไฮบริดที่ใช้น้ำมันกับไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ช่วยกันเสียก่อน เพราะยังมีปัญหาเรื่องการหาที่ชาร์จไฟเมื่อวิ่งทางไกล (ส่วนกรณีใช้ในเมืองล้วนๆ น่าจะชาร์จไฟที่บ้านได้สบาย เช่นอาทิตย์นึงหรือ 2-3 วันชาร์จทีก็พอถมเถ) และเวลาที่ต้องรอชาร์จกว่าจะเต็ม ส่วนที่ภาครัฐกังวลก็คือเรื่องการที่อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่มีอยู่เดิมจะล่มสลาย เพราะชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ที่เราผลิตเป็นอยู่เดิมนั้นใช้กันไม่ได้ และไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ในอนาคตน่าจะไม่มีงานผลิตชิ้นส่วนและประกอบให้ทำมากเท่าเดิม เพราะชิ้นส่วนก็น้อยกว่า งานประกอบก็ง่ายกว่า แถมยังใช้หุ่นยนต์ช่วยได้มากกว่าด้วย ซึ่งน่าจะทำให้คนตกงาน กระทบเศรษฐกิจ และรัฐขาดรายได้ นอกจากนั้นที่ยังมีบ้างที่พูดกันถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อมาชาร์จรถยนต์ ซึ่งที่อื่นเค้าใช้โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หรือนิวเคลียร์เป็นส่วนมาก แต่โรงไฟฟ้าของเราหลักๆ ยังอยู่ที่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งหากใช้รถไฟฟ้ากันมากถึงแม้จะทำให้มลพิษบนถนนลดลง แต่จะไปเพิ่มที่โรงงานผลิตไฟฟ้าที่ต้องเร่งผลิตให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟแทน
. - ในขณะที่เมืองไทยยังไม่มีข้อสรุป บางประเทศในยุโรปก็ไปไกลถึงขนาดวางแผนจะจะห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เข้ามาวิ่งในเขตเมืองภายใน 5, 10 หรือ 20 ปีข้างหน้ากันเลย แต่ทั้งนี้ต้องนึกด้วยว่าหลายประเทศในยุโรปมีขนาดและพื้นที่เล็กกว่าอเมริกามาก และรถยุโรปหลายยี่ห้อที่ทำแบบไฮบริดก็เป็นระบบที่แตกต่างจากญี่ปุ่น เรียกว่า plug-in hybrid คือมีแบตเตอรี่ใหญ่พอจะวิ่งด้วยไฟฟ้าล้วนๆ ในเมืองได้หลายสิบกิโลเมตร แล้วพอออกนอกเมืองค่อยติดเครื่องยนต์ก็ได้ และแบตเตอรี่อันใหญ่นี้จะชาร์จให้เต็มด้วยไฟบ้านก็ได้ (รถญี่ปุ่นก็มีทำแบบเดียวกันได้ แต่เป็นอุปกรณ์เสริม)
. - ข่าวเมื่อไม่กี่วันนี้ หลังจากที่โชว์รถต้นแบบมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่าง General Motor หรือ GM ก็เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Chevy (Chevrolet) Bolt อย่างเป็นทางการในราคาระดับเดียวกับ Tesla Model 3 (อย่าสับสนกับ Chevy Volt ที่เป็นรถไฮบริด) แถมยังบอกว่าสามารถส่งมอบรถจริงได้ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนเทสลาถึง 1 ปี! ข่าวนี้คงเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันอย่างดุเดือดที่จะต้องออกตามกันมาอีกหลายเจ้า และอาจจะกลายเป็นตัวเร่งให้รถยนต์ไฟฟ้ามาเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ในเมื่อฝ่ายหนึ่งคือ Tesla เก่งเรื่องอิเล็คทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ (ถึงขนาดที่ว่าสามารถปรับปรุงการทำงานของรถได้ด้วยการบอกให้ผู้ใช้รถต่อเน็ตทิ้งไว้ แล้วอัพเกรด OS หรือเฟิร์มแวร์ใหม่แบบเดียวกับสมาร์ทโฟนที่เราคุ้นเคย) และมีประวัติดีในด้านคุณภาพ (ส่วนเรื่องซอฟต์แวร์ขับรถอัตโนมัติหรือ autopilot ที่มีข่าวว่าทำให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตนั้น เป็นอีกเรื่องที่ถ้ามีเวลาจะเก็บมาเล่าให้ฟังต่างหากอีกทีครับ เพราะเป็นส่วนเสริมที่แถมมาให้ คือถึงจะไม่มีระบบนี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังใช้งานได้โดยให้คนขับเองเหมือนรถยนต์ทั่วไป) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือ GM ก็มีประสบการณ์อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์มานานกว่า 100 ปี และก็มีการพัฒนารถไฟฟ้าต่อเนื่องมาพอสมควร ถึงแม้จะไม่แพร่หลายมากนักก็ตาม
. - ความจริงถึงแม้เทสลาจะดังมาก แต่ผู้ผลิตรถไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในโลกถ้านับจำนวนคันที่ผลิตและขายไปแล้วกลับกลายเป็น Nissan Leaf ของญี่ปุ่น ที่ขายไปแล้วกว่า 200,000 คัน เทียบกับ Tesla ที่เป็นอันดับสองซึ่งเพิ่งขายไปได้ประมาณ 100,000 คันเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตรถไฟฟ้า BYD ของจีนที่ขายไปแล้วรวมหลายหมื่นคัน แต่ถ้าตลาดโลกร้อนแรงขนาดนี้ พี่จีนอาจจะโดดเข้ามาเล่นด้วยก็ได้ และก็น่าจะยิ่งทำให้ราคารถไฟฟ้าถูกลงไปอีก
. - นอกจากนี้ถ้ามีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีแบตเตอรีที่สำคัญ เช่น สามารถทำให้มีความจุพลังงานเพิ่มขึ้น ราคาถูกลง ชาร์จได้เร็วขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ เช่น ชาร์จที่บ้านจนเต็มลดจากสามชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง หรือชาร์จด่วนแบบเกือบเต็มจาก 15-30 นาทีเหลือ 5-10 นาที ฯลฯ ก็อาจจะทำให้รถไฟฟ้ายิ่งได้รับความนิยมแพร่หลายเร็วขึ้นไปอีกก็ได้
.