World War Z กับโทรศัพท์ดาวเทียม
ใครที่ได้ไปดูหนังเรื่อง World War Z หนังตะลุยซอมบี้ที่นำแสดงโดยแบรด พิทท์ คงจะเห็นกันว่าพระเอกของเราใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหญ่ๆ หน้าตาดูโบราณ แถมจอขาวดำอีก เทียบไม่ได้เลยกับสมาร์ทโฟนทั้งหลายที่เราจับกันอยู่ทุกวัน แต่ก็อาจจะสงสัยอยู่ว่ามันเป็นโทรศัพท์อะไร พิเศษยังไง ถึงได้สามารถโทรกลับมาหาครอบครัวได้จากทุกที่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา กลางทะเล จากบนเครื่องบิน ฯลฯ หรือแม้แต่ในหลายๆ ที่ที่เมืองถูกทำลายย่อยยับโดยฝูงซอมบี้ไปหมดแล้ว ซึ่งเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายธรรมดาๆ น่าจะถูกทำลายหรือขาดพลังงานไปด้วย
โทรศัพท์ที่ว่านี้คือระบบ “อิริเดียม” (Iridium) ครับ เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบที่ไม่ได้ส่งผ่านเสาสัญญาณธรรมดาของมือถือค่ายไหน แต่ใช้ดาวเทียมจำนวน 66 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกเป็นตัวรับสัญญาณโดยตรง ดาวเทียมที่ว่านี้เป็นของบริษัทอิริเดียมเอง โคจรรอบโลกในระดับต่ำคือประมาณ 700 กม. จากพื้นผิวโลก เพื่อทำหน้าที่รับสัญญาณจากเครื่องในมือของผู้ใช้ แล้วส่งต่อไปยังดาวเทียมอิริเดียมดวงอื่นกรณีหาโทรศัพท์อิริเดียมด้วยกัน หรือส่งลงมายังพื้นโลกเพื่อเชื่อมกับระบบโทรศัพท์ธรรมดา ทำให้คุยกับใครจากที่ไหนๆ ก็ได้บนโลกนี้ แม้แต่จะโทรจากขั้วโลกทั้งเหนือและใต้! รวมถึงเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ด้วย แต่ยังได้ความเร็วต่ำมากคือ 2.4 kbps ประมาณมือถือยุค 1G ก่อนจะมี Edge เสียอีก แค่ส่ง sms หรืออีเมล์ข้อความได้เท่านั้น (ช้ากว่า 3G ประมาณ 1,000 เท่า!) แต่แค่นี้ก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะลองนึกถึงว่าเครื่องในมือคุณต้องส่งสัญญาณแรงพอที่จะขึ้นไปให้ถึงดาวเทียมที่ห่างไป 700 กม. ถ้าอยู่เหนือหัวพอดี หรือตอนที่ไม่ตรงหัวทำให้ต้องส่งสัญญาณเฉียงๆ ก็อาจต้องส่งไกลถึงเป็นพันกิโลเมตร ประมาณกรุงเทพ-สิงคโปร์ ในขณะที่สมาร์ทโฟนปกติที่เราใช้กันส่งสัญญาณไปถึงสถานีฐานได้ระยะไม่กี่กิโลเมตรหรืออย่างมากก็แค่ระดับสิบ กม. เท่านั้น
ที่จริงระดับความสูงในวงโคจรของดาวเทียมอิริเดียมก็ยังจัดว่าสูงนะครับ เช่นเมื่อเทียบกับภูเขาที่สูงที่สุดอย่างยอดเอเวอเรสท์ในเทือกเขาหิมาลัยที่สูงแค่ 8 กม. เศษๆ หรือเครื่องบินโดยสารทั่วไปที่บินสูงแค่ประมาณ 12 กม. เอง แต่ถ้าเทียบกับดาวเทียมค้างฟ้า (คืออยู่ตรงที่เดิมเหนือพื้นผิวโลกตลอดเวลาหรือ Geosynchronous Earth Orbit – GEO) ที่ใช้ถ่ายทอดการสื่อสารต่างๆ อย่างดาวเทียมไทยคมหรืออื่นๆ ซึ่งจะต้องอยู่ที่ความสูงประมาณ 35,780 กิโลเมตร อิริเดียมก็ต้องจัดว่าเป็นพวกดาวเทียมที่มีวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit – LEO) ซึ่งพอต่ำระดับนี้ตำแหน่งของดาวเทียมก็จะไม่อยู่เหนือที่เดิมบนพื้นโลก แต่วิ่งวนไปมาด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้เครื่องโทรศัพท์มือถืออิริเดียมต้องส่งสัญญาณไปหาดาวเทียมหลายๆ ดวงเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาด้วย (ดาวเทียมดวงหนึ่งๆ จะวิ่งมาอยู่ในระยะที่รับสัญญาณจากเราได้ประมาณ 15 นาทีเท่านั้น) ระบบการโอนสัญญาณระหว่างดาวเทียมคนละดวงโดยไม่ให้สายหลุดก็ต้องซับซ้อนระดับหนึ่งทีเดียว
พูดถึงอิริเดียมก็ต้องให้เครดิตหน่อยว่าระบบนี้คิดค้นและพัฒนาโดย บริษัท โมโตโรลา (Motorola) ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือ mobile phone อย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้เป็นรายแรกของโลกเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แต่งานนี้ก็ทำแล้วขาดทุนจนแทบล้มละลาย และมีผู้อื่นเข้ามาซื้อกิจการไปทำต่อทีหลัง เพราะการลงทุนยิงดาวเทียมค่อนร้อยดวง (ต้องมีที่โคจรรอไว้สำรองเผื่อเสียด้วยอีกจำนวนหนึ่ง) ต้องใช้เงินมหาศาล ตอนแรกระบบนี้ออกแบบมาให้ใช้ดาวเทียม 77 ดวง ซึ่งเท่ากับจำนวนอิเล็คตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียสในอะตอมของธาตุ Iridium จึงเป็นที่มาของชื่อนี้ แต่ทำไปทำมาท่าทางจะไม่คุ้มก็เลยต้องออกแบบใหม่ให้ลดจำนวนดาวเทียมลงเหลือแค่ 66 ดวงก็พอ ส่วนผู้ให้บริการลักษณะเดียวกันนี้รายอื่นๆ ก็มีเช่น GlobalStar ซึ่งใช้ดาวเทียมน้อยกว่าคือแค่ 48 ดวง ครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นแผ่นดินทั่วโลก แต่ไม่ทั่วถึงในทะเลที่ห่างไกลบางแห่งและบริเวณขั้วโลก
สนนราคาค่าเครื่องและใช้บริการของระบบ Iridium นี้ก็จัดว่าสูงพอสมควร ดูราคาเมืองนอกคร่าวๆ ตัวเครื่องเริ่มที่ประมาณสามหมื่นกว่าบาท ค่าบริการเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนละ 5,000 บาทโทรได้ 75 นาที หรือคิดเพิ่มนาทีละประมาณ 50 บาท ดังนี้ถ้าเห็นใครถือเครื่องหน้าตาแบบในหนัง อย่าไปนึกว่าเค้าใช้มือถือรุ่นโบราณนะครับ นั่นน่ะต้องเป็นคนระดับ VIP ที่ต้องสามารถคุยกับใครได้จากทุกที่ในโลกเมื่อต้องการทีเดียว 😉