ทำไมสำนักพิมพ์ได้กำไรจากอีบุ๊คน้อยกว่าหนังสือเล่ม?
ข้อมูลจากหลายๆประเทศที่เริ่มมีการขายอีบุ๊คกันอย่างแพร่หลายพอสมควร บอกว่าสำนักพิมพ์ส่วนมากบ่นกันว่าการขายอีบุ๊คได้กำไรน้อยกว่าหนังสือเล่ม ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ เพราะการนำเสนอ content ผ่านรูปแบบ electronics media ไม่ต้องมีค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่ม
แต่ความจริงแล้วเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างของต้นทุนและราคาขายในแต่ละประเทศ มีผลอย่างมากในการทำกำไรของสำนักพิมพ์ ในด้านบวก สิ่งที่สำนักพิมพ์จะลดต้นทุนได้ในกรณีของ e-book ก็คือ
- ค่ากระดาษ ค่าเพลท ค่าพิมพ์
- ? ลดการสูญเสียของหนังสือที่เหลือคืนหรือพิมพ์เกินกว่าที่ขายได้
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเตรียม content หรือ pre-press น่าจะใกล้เคียงกัน ซึ่งคงต้องดูในรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้
จากการที่ราคาหนังสือต่างประเทศนั้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับของไทย (ถึงแม้ราคานั้นจะจัดว่าถูกเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของประเทศนั้นๆ ก็ตาม) เช่น 5-6 ร้อยบาท เทียบกับบ้านเรา 2-3 ร้อยบาท ในขณะที่ต้นทุนการพิมพ์อาจจะไม่ต่างกับบ้านเรามากนัก เช่น 50-100 บาท ดังนั้นค่ากระดาษ ค่าพิมพ์ ที่ลดลงได้จึงเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าของไทย เช่นของต่างประเทศอาจเป็นเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่บ้านเราอาจมีสัดส่วนค่าพิมพ์ที่ลดได้สูงถึง 20% ดังนั้น e-book จึงมีส่วนที่ลดต้นทุนให้สำนักพิมพ์ไทยได้มากกว่า
ในส่วนของการลดการสูญเสียหนังสือคืนหรือพิมพ์เหลือแล้วขายไม่ได้นั้น ตัวเลขจากผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่อย่างซีเอ็ดยูเคชั่นบอกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมดของวงการใกล้จะแตะ 30% แล้ว ดังนั้นมูลค่าส่วนนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์สามารถประหยัดได้จากการแจกจ่ายหนังสือในรูปแบบ e-book เช่นเดียวกัน
ในทางกลับกัน มองในด้านลบ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นในการขายหนังสือในรูปแบบ e-book ก็คือ
- ค่าหัวคิวหรือส่วนแบ่งการตลาดที่ต้องถูกชาร์จ 2-3 ต่อ คือโดยผู้ดำเนินงานร้านออนไลน์ e-book store, โดย developer ผู้พัฒนาระบบหน้าร้านออนไลน์ และที่สำคัญที่สุดคือโดยเจ้าของแพลทฟอร์มหรือระบบปฏิบัติการ เช่น Apple (iOS) หรือ Google (Android) ซึ่งรวมกันแล้วพอๆกับ หรืออาจจะมากกว่าส่วนแบ่งการค้าปกติที่สำนักพิมพ์ให้แก่สายส่ง (ผู้จัดจำหน่าย) และร้านค้าทั่วไป เช่น 30-40% เสียด้วยซ้ำ
- ส่วนลดจากราคาปกที่ต้องให้ตามธรรมเนียมที่ว่า e-book จะขายในราคาที่ถูกกว่าหนังสือเล่ม เช่น อย่างน้อยก็ลด 20-30% จากราคาปกของหนังสือเล่มเดียวกัน
ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ รวมแล้วหากมากกว่าต้นทุนการพิมพ์และมูลค่าหนังสือเหลือที่ลดได้ ก็จะกลับทำให้สำนักพิมพ์ได้รับส่วนแบ่งที่เหลือน้อยลง เช่นเหลือเพียง 10-20% จากราคาปก (ซึ่งต้องไปแบ่งต่อให้กับผู้เขียนอีก) สุดท้ายสำนักพิมพ์ก็ไม่เหลืออะไร จึงกลายเป็นแรงต้านที่ทำให้สำนักพิมพ์ขาดแรงจูงใจในการทำตลาด e-book ให้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น
Feature image : Maximilian Schönherr – CC BY-SA 3.0