ไอทีเป็น “หนทาง” ไม่ใช่ “ปลายทาง” – ตอนที่ 2
ถัดจากที่อธิบายไปในตอนที่แล้ว เมื่อทุกอย่างขึ้นอยู่บน Cloud และต้องเข้าใช้ผ่านเน็ต เราก็ต้องการความเร็วในการเชื่อมต่อที่สูงขึ้น ซึ่งถึงแม้จะเป็นอุปกรณ์ใช้สายหรือไร้สายก็ติดตรงนี้ทั้งคู่ และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเกิดความต้องการที่จะรันแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์พกพาที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า Mobile Internet Device (MID) ซึ่งรวมถึงสมาร์ทโฟน แท็บเบล็ต เน็ตบุ๊ค โน้ตบุ๊ค หรือแม้แต่กล้องดิจิตอลบางรุ่นที่สามารถถ่ายแล้วอัพรูปขึ้นเน็ตได้ในตัวเลยก็อาจจัดเป็น MID ได้เช่นกัน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานด้วยแบตเตอรี่ จึงต้องประหยัดไฟและมักไม่สามารถจะทำให้มีกำลังในการประมวลผลสูงๆ (ใช้ซีพียูรุ่นแรงๆ) ได้มากนัก การรันทุกอย่างภายใต้บราวเซอร์บางครั้งก็กินกำลังเครื่องมากเกินไป จนเกิดความจำเป็นในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขนาดเล็กบนอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้น อย่างที่เราเห็นใน iPhone (รวมถึง iDevice ทั้งหลายเช่น iPad, iPod), Android และอื่นๆ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดี เช่นมีการจัดหน้าจอแสดงผลไว้ล่วงหน้าแล้ว ดึงเฉพะาข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานผ่านเน็ตไปใช้เท่านั้น ทำให้ทำงานเร็วขึ้นและ User interface สามารถปรับให้เหมาะกับแต่ละเครื่องแทนที่จะเป็นแบบกลางๆ ไม่ขึ้นกับหน้าจออุปกรณ์อย่างกรณี web application แต่ก็ไปติดข้อจำกัดเรื่องการ deploy คือแจกจ่ายแอพรุ่นล่าสุดให้ไปรันบนแต่ละอุปกรณ์ จึงกลายเป็นแนวทางที่ทุกระบบยายามทำ app store ขึ้นมาเอง เพื่อให้สามารถแจกจ่ายแอพฯ รุ่นล่าสุดได้ง่าย รวมไปถึงการควบคุมและป้องกันการ copy ซึ่งถึงแม้จะทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็สามารถกีดกันการก๊อปปี้โปรแกรมต่อๆ กันไปได้บ้างในระดับหนึ่ง
ปัญหาของแอพฯ แบบที่รันบนเครื่องก็ยังกลับไปเหมือนเดิมๆ คืออาจได้รับผลกระทบจากความไม่สมบูรณ์ของเครื่่องนั้นๆ รวมถึงเรื่องไวรัส และอื่นๆ ที่ทำให้ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเช่นฝ่ายไอทีของหน่วยงาน ให้ช่วยดูแลอยุ่บ้าง แต่ก็จัดว่าลดลงกว่าเดิม เพราะแอพพลิเคชั่นส่วนที่อยู่ในเครื่องมีความซับซ้อนน้อยลง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้มากกว่า Windows ดังนั้นเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นการผสมผสานกันระหว่าง web application กับ local application ในเครื่องกันต่อไป หรือบางแอพฯอาจจะเป็นลูกผสมก็ได้ ขึ้นกับลักษณะงานและการใช้ข้อมูล เช่นโปรแกรมจัดเก็บเอกสาร อาจเริ่มด้วยแอพฯ ที่ถ่ายรูปเอกสารจากกล้องในสมาร์ทโฟน ทำการ OCR (Optical Character Recognition) เพื่อแปลงข้อมูลภาพเป็นข้อความ แล้วค่อยจัดเก็บภาพและข้อความนั้น ซึ่งก็ขึ้นกับว่าจะ OCR อะไรบ้าง เช่นถ้าทำเฉพะาหัวข้อเพื่อตั้งชื่อเอกสารและจัดหมวดหมู่ ก็อาจทำที่เครื่องหรือสมาร์ทโฟนได้เลย แต่ถ้าต้องทำ OCR ข้อความทั้งหมดก็อาจต้องส่งรูปนั้นขึ้นไปที่ Cloud เพื่อขอแรงในการประมวลผลแทน
อะไรที่อยู่บน Cloud นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นของครอบจักรวาล คือมีทุกอย่าง ซึ่งบางครั้งก็อาจมีหรือรู้ข้อมูลมากเกินไปจนมีผลกระทบในเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ของแต่ละคนได้ เช่นอาจมีแอพฯ ที่สามารถค้นหารูป ทะเบียนรถ ใบหน้าคน ฯลฯ จากอินเทอร์เน็ตได้ทันทีทันใด ใครเจอหน้าคนคุ้นๆ ที่ไหนก็อาจเอากล้องถ่ายใบหน้าแล้วถาม Google ดูว่าเจ้าของหน้านี้ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ได้เลย (ตอนนี้ยังแยกได้แค่สถานที่สำคัญ เช่น หอไอเฟล หรือโลโก้บริษัทดังๆ ที่รู้จักกันทั่วโลก เท่านั้น แต่คงในไม่ช้านี้ที่เริ่มจะแยกแยะหน้าคนได้ ก็โดยไปหารูปใน Facebook หรือ ที่อื่นๆ ที่คุณเคยไปเที่ยวโพสต์ไว้ตามที่ต่างๆ บนเน็ตนั่นเอง)



สรุปคือตอนนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่การสื่อสารยังไม่สมบูรณ์นัก (แถมแพงอีกต่างหาก) และเครื่องที่ใช้ก็ยังไม่มีความเร็วสูงพอในสถานการณ์ที่ต้องประหยัดพลังงาน ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้เองที่ทำให้เรายังต้องพึ่งพาแอพฯ ลูกผสม ที่อยู่ระหว่าง web apps ล้วนๆ กับแอพที่ต้องโหลดมาในเครื่องก่อน ไปอีกนานพอสมควรทีเดียว แต่อย่าลืมว่าทั้งสองแบบก็ยังต้องใช้เซิร์ฟเวอร์บน cloud ในการทำงานให้ หรือถ้าช่วงไหนไม่สามารถเชื่อมต่อได้ก็ต้องมีกลไกที่จะ cache หรือพักข้อมูลเอาไว้ก่อน (เข้าใจว่ามาตรฐาน HTML5 จะสนับสนุนตรงนี้ไว้มากพอควรครับ)
สุดท้ายนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะไปทางไหน มันก็เป็นแค่ “หนทาง” ที่จะได้ข้อมูลหรือบรรลุวัตถุประสงค์ในการทำงาน (“ปลายทาง”) เท่านั้น อย่า “use technology for technology’s sake” อย่างที่เขาห้ามกัน เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือช่วยงานคุณเท่านั้น ไม่จำเป็นจะต้องใช้โน้ตบุ๊คสเป็คเทพ หรือซอฟต์แวร์รุ่นใหญ่พิสดาร แต่ทำแค่งานง่ายๆ ใช้เครื่องมือด้านไอทีให้ถูกกับลักษณะและปริมาณของงาน จะเป็นหนทางให้งานลุล่วงไปได้รวดเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำบน web apps, local apps หรือผสมผสานกันก็ตามที