iPad : ฤาจะเป็นแพลทฟอร์มนี้ที่เปลี่ยนโลก ?
ผมเชื่อว่าใครๆ ก็คงเห็นข่าวการเปิดตัวคอมพิวเตอร์แบบ tablet ในชื่อ iPad ของแอปเปิลเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวฮือฮากันไปทั่วโลก ซึ่งปฏิกิริยาของผู้คนทั่วไปต่อข่าวนี้ก็หลากหลาย บ้างก็ตื่นเต้นรอคอย บ้างก็ผิดหวัง บ้างก็สงวนท่าที และสำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ขอเก็บมาสรุปสั้นๆ และเล่าขยายอีกทีดังนี้ครับ
iPad เป็นคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในรูป ?Tablet? ที่จะเรียกว่า ?สมุดบันทึก? หรือ ?แผ่นกระดาน? ก็ได้ มีขนาดประมาณ 19 x 24 นิ้ว คือกว้างและยาวกว่าวารสาร D+ Plus ฉบับที่คุณถืออยู่นี้ออกไปอีกข้างละประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณครึ่งนิ้วหรือ 1.3 เซนติเมตร หนักประมาณ 7- 8 ขีด แล้วแต่รุ่น เรียกว่าเบากว่าโน้ตบุ๊คขนาดเล็กหรือเน็ตบุ๊คอยู่ประมาณ 20 -30% โดยที่ทั้งเครื่องมีแค่จอภาพแบนๆ ชิ้นเดียว ไม่มีคีย์บอร์ดจริงติดมาด้วย โดยมีคีย์แบบสัมผัสให้บนจอ เช่นเดียวกับ iPhone (แต่สามารถใช้คีย์บอร์ดจริงแบบ Bluetooth เชื่อมต่อเข้ามาได้) หน้าจอสีขนาด 9.7 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 จุด เป็นระบบสัมผัสแบบ capacitive แบบเดียวกับ iPhone คุณจึงสามารถใช้นิ้วมือลากเพื่อสั่งการได้เหมือนกัน ใช้ซีพียูที่เรียกว่า A4 ความเร็ว 1 GHz ซึ่งทางแอปเปิลผลิตเอง แต่ที่จริงก็คือซื้อลิขสิทธิ์ซีพียู Cortex-A9 จากบริษัท ARM ผู้นำเทคโนโลยีซีพียูประหยัดพลังงานในอุปกรณ์พกพาทั้งหลายมาพัฒนาต่อให้เป็นของ iPad โดยเฉพาะ ซึ่งก็คล้ายกับซีพียูที่ออกแบบโดย ARM เช่นกันซึ่งใช้ใน iPhone (ความเร็วอยู่ที่ 400 ? 600 MHz) และผลิตโดย Samsung ดังนั้น iPad จึงสามารถใช้ iPhone OS 3.2 และโปรแกรมต่างๆ ได้เหมือนกัน แบตเตอรี่ใช้งานได้ 10 ชั่วโมง และปิดไว้ได้โดยไม่ต้องชาร์จถึง 14 วัน (คาดกันว่าซีพียูตัวนี้อาจจะใช้ใน iPhone รุ่นถัดไปด้วย)
สำหรับการเชื่อมต่อก็ใช้คอนเน็คเตอร์แบบเดียวกับ iPod และ iPhone ที่ต่อกับเครื่องพีซีหรือ Mac ทางสาย USB เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านโปรแกรม iTunes ได้ ทั้งนี้จะสังเกตว่าไม่มีที่เสียบสาย LAN และ Modem เหมือนโน้ตบุ๊คทั่วไป แต่ทุกรุ่นสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi และ Bluetooth ได้ และยังมีรุ่น Wi-Fi + 3G ที่สามารถเชื่อมต่อแบบ 3G ให้เลือกด้วย (แน่นอนว่าแพงกว่า และทางแอปเปิลระบุมาในสเป็คว่ามีแค่การรับส่งข้อมูลผ่านระบบ 3G แต่ไม่สามารถใช้เป็นโทรศัพท์ได้ ในทางกลับกันก็มีข่าวรั่วออกมาว่าในอนาคตจะสามารถใช้โปรแกรมโทรศัพท์ในแบบ IP Phone คือโทรผ่านเน็ตได้ โดยมีชุดคำสั่งรออยู่ใน OS แล้ว แต่อาจเป็นรุ่นถัดไปที่มีกล้องในตัว อะไรทำนองนั้น ซึ่งจริงๆ แล้วถึงแอปเปิลไม่ทำก็คงมีคนแกะหรือ hack ให้ทำได้จนได้ เพราะส่วนประกอบที่จำเป็นต่างๆมีพร้อมรออยู่แล้ว) ส่วนตัวเก็บข้อมูลใช้เป็นแบบ flash มีความจุให้เลือกตั้งแต่ 16, 32 จนถึง 64 GB แต่ประเด็นที่สร้างความฮือฮามากที่สุดคือราคา ซึ่งรุ่นต่ำสุดที่มีแต่ Wi-Fi นั้นราคาเพียง 499 ดอลลาร์หรือประมาณหมื่นบาทปลายๆ ถูกกว่าเครื่อง iPhone เสียอีก
สตีฟ จอบส์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ของแอปเปิล (ที่รับตำแหน่งชั่วคราวหรือ interim มาสิบกว่าปีแล้ว โดยรับค่าจ้างพอเป็นพิธีคือปีละ 1 ดอลลาร์ หรือ 30 กว่าบาทเท่านั้น) บอกบนเวทีว่าสาเหตุที่แอปเปิลเปิดตัว iPad เพราะมองเห็นว่ามีช่องว่างของตลาดสำหรับอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่อยู่ระหว่าง iPhone หรือ iPod กับเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac (ทั้ง Mac Book และ iMac หรือรุ่นอื่นๆ ก็ตาม) คืออะไรที่สามารถทำงานพื้นฐานได้มากกว่าโทรศัพท์มือถือ (ที่มีข้อจำกัดคือต้องมีจอขนาดเล็กเพราะต้องทำให้น้ำหนักเบา พกพาติดตัวสะดวก และเปิดเครื่องรอสายได้นาน) เช่น เล่นเน็ต ท่องเว็บ รับส่งอีเมล์ เล่นเกม ทำงานเอกสารอย่างง่าย ดูรูปถ่าย แผนที่ ปฏิทิน จัดการรายชื่อผู้ติดต่อ รวมไปถึงการอ่าน e-book ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำได้ดีเมื่อจอภาพใหญ่ขึ้น รวมไปถึงการดูหนังด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมีกำลังเครื่องสูงอย่าง Mac ที่สามารถรันโปรแกรมกราฟิกหรือทำงานที่ซับซ้อนได้ ซึ่งงานนี้มีการเกทับแพลทฟอร์มอื่นคือเน็ตบุ๊คด้วยว่าทำอะไรได้ไม่ดีซักอย่าง เพราะรันซอฟต์แวร์ของพีซี ทำให้ประสิทธิภาพไม่ดี อะไรประมาณนั้น ใครสนใจก็ลองไปดูวิดีโอที่สตีฟ จอบส์เปิดตัว iPad ได้ที่ http://www.apple.com/quicktime/qtv/specialevent0110 นะครับ
ความจริงจะว่าไปแล้วคอนเซ็ปต์ของ iPad ก็คล้ายจะเป็นเซกเมนต์เดียวกับ Netbook นั่นเอง คือใช้งานทั่วๆไปที่ไม่หนักมาก เช่นการท่องเว็บ รับส่งอีเมล์ สร้างเอกสารอย่างง่าย ดูหนังฟังเพลง ตลอดจนเรียกดูเนื้อหาหรือ content ต่างๆ (content viewing) แต่ไม่ใช่สำหรับการสร้างเนื้อหาเหล่านั้น (content creation) ที่ต้องใช้กำลังเครื่องสูงกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการรันโปรแกรมจัดหน้าเอกสาร ตัดต่อวิดีโอ สร้างหรือรีทัชภาพกราฟิกต่างๆ แต่ความต่างอยู่ตรงที่ว่า iPad วางตัวเองเป็น Super iPhone ไม่ใช่ Mini Mac เห็นๆได้จากการที่มันใช้ OS ร่วมกับ iPhone แทนที่จะเป็น Mac OSX รุ่นเต็ม แต่ทำแทบทุกอย่างได้ดีกว่า iPhone ในขณะที่ Netbook หรือ Notebook ขนาดเล็กวางตัวเป็น Mini PC ที่รัน Windows ได้อย่างไม่ค่อยจะเร็วทันใจผู้ใช้นัก เพียงแต่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวก หรือบางรุ่นก็มีราคาประหยัดเท่านั้น แต่เมื่อรัน Windows ผู้ใช้ย่อมอดไม่ได้ที่จะคาดหวังว่าจะต้องทำได้ใกล้เคียงกับพีซี ดังนั้นความคาดหวังของผู้ใช้จึงผิดกัน และเพราะด้วยซีพียูที่เร็วขึ้น หน่วยความจำที่มากขึ้น และจอที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ iPad ตอบสนองผู้ใช้ได้มากกว่า iPhone โดยไม่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเครื่อง Mac Book ที่มีราคาสูงกว่า iPad ขึ้นไปอีก 2-3 เท่า เรียกว่าน่าจะทำได้เกินที่ผู้ใช้คาดหวังไว้ และยังทำได้ในราคาที่คู่แข่งทั้งหลายกระอักกระอ่วนใจ เพราะจากที่คาดกันว่าแอปเปิลจะเคาะราคาที่ 700-900 ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ iPad แพงกว่า iPhone และยังมีที่เหลือพอให้โน้ตบุ๊คหรือ Tablet PC แบบอื่นๆ ขยับกันขายถูกกว่าได้บ้าง ก็เหลือราคาเริ่มต้นเพียง $499 เท่านั้น แต่ที่ราคานี้ก็ยังมีผู้วิเคราะห์ส่วนประกอบของ iPad แต่ละชิ้นออกมาแล้วว่าต้นทุนของแอปเปิลจะอยู่ที่ไม่ถึง $300 ดอลลาร์ เรียกว่ายังมีกำไรเหลือพอควรทีเดียว
สำหรับการยอมรับของตลาดนั้น จากการที่มันใช้คล้ายกับ iPhone มากจนผู้ที่ใช้ iPhone อยู่แล้วสามารถใช้ได้แทบจะทันที จึงเท่ากับว่ามีตลาดของผู้ใช้ iPhone ทั่วโลกกว่า 70 ล้านคนที่จะสามารถใช้ iPad ได้ทันทีโดยไม่ต้องหัดอะไรใหม่ ซึ่งน่าจะมากกว่าคนที่ใช้ Mac OSX อยู่เสียอีก แต่บางคนอาจจะแย้งว่าแอพพลิเคชั่นบน iPhone ยังทำงานได้ไม่มากเท่ากับบนเครื่อง Mac รวมถึงงานเอกสารต่างๆ ซึ่งแอปเปิลก็ได้แก้จุดนี้ด้วยการทำโปรแกรมชุด iWork (คล้ายกับ Microsoft Office อย่างง่าย) ที่มีใช้บน Mac ให้สามารถใช้กับ iPad ได้ด้วย โดยแยกขายเป็น 3 ตัวคือ Pages (จัดหน้าเอกสารเหมือน Word ), Numbers (สเปรดชีตสำหรับคำนวณ คล้ายๆ Excel) และ ?Keynote (ทำสไลด์พรีเซนท์งานเหมือน PowerPoint) ในราคาเพียงตัวละ $9.99 เท่านั้น ซึ่งผู้ใช้ iPad จะสามารถซื้อและดาวน์โหลดโปรแกรมจาก AppStore ของแอปเปิลผ่าน iTunes ได้ทันที บางท่านอาจแย้งว่าโปรแกรมเหล่านี้คงจะทำอะไรได้ไม่มากเท่ากับ Microsoft Office หรือ OpenOffice.org แต่อย่าลืมว่าสำหรับคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเพียงจัดเอกสารอย่างง่าย ไม่ได้ใช้อะไรซับซ้อนแล้ว โปรแกรมเหล่านี้ก็อาจจะเกินพอเสียด้วยซ้ำไป เพราะแม้แต่ทุกวันนี้ในหลายๆ หน่วยงานยังใช้โปรแกรมกันไม่เต็มที่หรือใช้เพียงเสี้ยวเดียวของความสามารถ บางทีก็ใช้กันผิดประเภทด้วยความสะดวกเคยชิน เช่นใช้ Excel ในการพิมพ์ข้อความและแปะรูปลงในตารางสเปรดชีต เพียงเพื่อให้ข้อความอยู่เป็นที่เป็นทาง โดยที่ไม่ได้ใช้การคำนวณใดๆเลยก็มี
การเปิดตัว iPad ในครั้งนี้ส่งให้แอปเปิลไปเหยียบตาปลาใครต่อใครเข้าอีกหลายคนอย่างตั้งใจ ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ตั้งแต่ชื่อ iPad ที่ซ้ำกับเครื่องที่ Fujitsu เคยประกาศออกมาหลายปีก่อนนี้ และไปเบียดแย่งเงินในกระเป๋าลูกค้าที่กำลังจะควักออกมาซื้อ? Netbook แต่ที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นการชนกับ Kindle เครื่องอ่าน e-book สุดเลิฟของ Amazon ทำให้หลายคนออกมาพูดถึงอวสานของ Kindle จนทำให้สาวก Kindle ทั้งหลายออกมาเปิดศึกฉะแหลกกับสาวกแอปเปิล กลายเป็นวิวาทะกันบนเน็ต ทั้งๆที่ iPad ยังไม่ได้ออกวางตลาดจริงเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่เรื่องที่จอภาพของ Kindle ใช้เทคโนโลยี e-ink ที่แสดงภาพนิ่งได้คมชัด แต่เป็นภาพนิ่งขาวดำเท่านั้น ไม่มีวิดีโอ ส่วน e-ink จอสีก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาอีกเป็นปีกว่าจะใช้การได้จริง ราคาที่ Kindle ถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง (รุ่นธรรมดา $259 แต่รุ่นใหญ่คือ Kindle DX ที่สามารถแสดงไฟล์ PDF ได้และจอใหญ่ 9.7 นิ้วเท่ากันนั้นราคา $489 คือพอๆกับ iPad ถูกกว่าแค่ $10) แต่ก็ใช้อ่าน e-book ได้อย่างเดียว ดูหนังหรือใช้เป็นคอมพิวเตอร์ยังไม่ได้ น้ำหนักที่ Kindle เบากว่าครึ่งแต่ Kindle DX เบากว่าไม่มาก และที่สำคัญอีกอย่างคือ iPad (มีข่าวว่าจะ) สนับสนุน e-book ในรูปแบบมาตรฐาน ePub ส่วน Kindle นั้นทาง Amazon โดนโวยมานานแล้วว่าใช้มาตรฐานไฟล์ .Mobi ของตัวเองโดยเฉพาะ ใครสนใจข้อมูลเปรียบเทียบเครื่องอ่าน e-book รุ่นใหม่ รวมทั้งเครื่อง Nook ของ Barnes & Noble ร้านหนังสือเครือข่ายใหญ่ที่สุดของอเมริกา จะดูได้ที่ http://paidcontent.org/table/e-reader-comparison-chart/ ครับ
ประเด็นสำคัญของเรื่อง e-book ความจริงไม่ได้อยู่ที่ว่าเครื่องอ่านของใครดีกว่า เพราะของมันเปลี่ยนรุ่นกันได้ แต่อยู่ที่จะดึงคนเข้าร้านหนังสือของใครได้มากกว่ากัน ระหว่าง Amazon.com ที่ขายหนังสือเป็นเล่มๆ มานานและเริ่มขยับขยายไปขายอย่างอื่นๆ ที่ยังต้องส่งของจริงเป็นชิ้นๆ อยู่ รวมถึงขาย e-book ผ่านการดาวน์โหลด กับ iTunes Store ของแอปเปิลที่เริ่มจากขายหนังและเพลงออนไลน์ ขยายมาเป็นขายโปรแกรมผ่านแผนกย่อยที่เรียกว่า AppStore และ e-book ผ่านแผนกย่อย iBooks ที่กำลังจะเปิดขึ้นมารองรับ iPad งานนี้แอปเปิลไปดึงสำนักพิมพ์ที่ไม่แฮปปี้กับ Amazon เพราะโดนขอแบ่งเปอร์เซ็นต์ค่า e-book ที่ขายได้ไปถึง 70% เหลือให้สำนักพิมพ์เพียง 30% เท่านั้น ในขณะที่แอปเปิลมาทีหลัง ขอแบ่งเพียง 30% ให้สำนักพิมพ์ 70% เล่นเอา Amazon ต้องปรับส่วนแบ่งตาม แถมเตรียมเปิด AppStore ขายโปรแกรมเสริมสำหรับ Kindle ขึ้นมารับมือเป็นการใหญ่
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้ฟันธงหรือคอนเฟิร์มว่า iPad จะประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจหรือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อันนั้นคงเป็นเรื่องอนาคตที่ต้องดูกันต่อไป แต่สิ่งที่ผมแน่ใจก็คือว่ามันได้ ?เปลี่ยนโลก? โดยการยกระดับความคาดหวังของผู้ซื้อ ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ ฟังก์ชั่นการทำงาน รูปลักษณ์หรือ design และราคา ของคอมพิวเตอร์ Tablet ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ ?ต่อจากนี้ไปไม่ว่าใครจะทำคอมพิวเตอร์ Tablet ออกมาก็จะต้องทำให้ถูกและดีไม่น้อยไปกว่านี้จึงจะขายได้? ซึ่งนั่นจะเป็นโจทย์ที่ยากหนักหนาสาหัสเอาการสำหรับผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้ผลิตซอฟต์แวร์เอง แต่ต้องไปเสียค่า license เช่น Windows 7 ให้กับไมโครซอฟต์ ในขณะที่ผู้ผลิตเครื่องบนระบบที่เปิดหรือฟรีแบบ Android ของ Google ยังมีที่ให้หายใจมากกว่า ส่วนผู้บริโภคอย่างเราก็ได้ประโยชน์จากการแข่งขันไปเต็มๆ
พูดเรื่องนี้พอโยงไปถึงตลาดมือถือที่กำลังจะปะทุดุเดือดในปี 2010 แล้วยังเล่าได้อีกยาว ขอยกไปต่อตอนหน้าที่จะว่าด้วยเรื่องมือถือโดยเฉพาะกันดีกว่าครับ?