GPS เทคโนโลยี VS ความเป็นส่วนตัวของคุณ
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็คงรู้จักเจ้าอุปกรณ์บอกตำแหน่งด้วยสัญญาณดาวเทียม หรือจีพีเอส (GPS ? Global Positioning System) กันมากพอสมควรแล้ว (ก่อนอื่นขอย้ำว่าอย่าเอาไปปนกับ GPRS ? General Packet Radio Service นะครับ อันนั้นมันเป็นการต่อเน็ตหรือรับส่งข้อมูลผ่านมือถือ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน) ที่ผมใช้คำว่า ?บอกตำแหน่ง? ก็คือแปลจาก Positioning เพราะความจริงแล้วสัญญาณจากดาวเทียมที่อุปกรณ์จีพีเอสรับมานั้นมันเพียงแต่บอกว่าคุณอยู่ตรงไหน ละติจูดและลองจิจูดที่เท่าไหร่บนพื้นผิวโลกเท่านั้น (ความจริงสามารถบอกว่าคุณอยู่ที่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ได้ด้วย) แต่ไม่ได้ช่วยนำทางอะไรเลย การที่อุปกรณ์จีพีเอสสามารถนำทาง (Navigation) ให้คุณขับรถไปไหนต่อไหน หรือแสดงแผนที่ต่างๆ ได้นั้นจะต้องมีข้อมูลอยู่ในตัวอุปกรณ์นั้นๆ เอง หรือไม่ก็สามารถดาวน์โหลดแผนที่ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แล้วค่อยเอาตำแหน่งของคุณที่สัญญาณดาวเทียมบอกมาอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อคุณเคลื่อนที่) มาเทียบกับพิกัดบนแผนที่ จากนั้นถึงจะบอกได้ว่าคุณอยู่ที่ไหน บนถนนอะไร ใกล้สถานที่สำคัญ (ที่เรียกกันว่า Point of Interest หรือ POI) อะไรบ้าง และควรจะเดินหน้าถอยหลังหรือไปทางขวาทางซ้ายอย่างไรถึงจะไปยังจุดที่ต้องการได้ ถ้าปราศจากข้อมูลแผนที่เสียแล้ว ระบบจีพีเอสก็จะบอกได้เพียงตำแหน่งของคุณเป็นตัวเลขที่ไร้ความหมาย หรือเป็นจุดบนพื้นที่ว่างๆ ที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรได้ อย่างมากก็บอกได้แค่ว่ากำลังมุ่งหน้าไปทางทิศไหน เช่น ขึ้นเหนือ หรือมุ่งตะวันออกเฉียงใต้ เท่านั้น
พอพูดถึงแผนที่ หลายคนคงคุ้นเคยกับแผนที่ระบบออฟไลน์ คือที่มีให้มาอยู่ในเครื่องจีพีเอสอยู่แล้ว เช่นเครื่องที่ติดรถยนต์ในเมืองไทยก็มักจะให้แผนที่ประเทศไทยมาทั้งหมด เพราะเขาไม่คิดว่าคุณจะขับรถข้ามประเทศไปไหนไกลๆ (แต่หากจะมีการอัพเดทแผนที่ให้ทันสมัย เช่นเพิ่มถนนหรือสะพานที่สร้างใหม่ หรือเพิ่มเติมแผนที่ประเทศใกล้เคียงก็อาจทำได้) แต่ลองคิดดูว่าถ้าเป็นจีพีเอสในโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวคุณไปทั่วโลกล่ะจะเป็นอย่างไร นั่นคือตอนที่คุณต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตให้ช่วยโหลดแผนที่ประเทศนั้นๆให้ ไม่งั้นจีพีเอสก็ไร้ประโยชน์ ดังนั้นจีพีเอสในโทรศัพท์มือถือบางรุ่นจึงออกแบบให้เชื่อมโยงกับแผนที่ออนไลน์ เช่น Google Map ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทันทีที่คุณต้องการ (และพร้อมจะจ่ายค่า data roaming สำหรับใช้บริการข้อมูลในต่างประเทศ ที่มักจะแพงมหาโหดแบบไร้เหตุผล แต่ก็หวังว่าในอนาคตคงจะถูกลงกว่านี้) หรือไม่ก็ใช้วิธีดาวน์โหลดแผนที่ที่คุณจะไปเก็บเอาไว้ก่อนออกเดินทาง ซึ่งก็มีขั้นตอนซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีกพอควรและแตกต่างกันไปตามแต่ละโปรแกรม
คราวนี้พอคุณมีแผนที่และต่อเน็ตด้วยแล้ว สิ่งที่คุณจะทำได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างก็คือ ส่งข้อมูลพิกัดของคุณผ่านเน็ตไปบอกคนอื่นๆว่า ?ฉันอยู่ตรงนี้!? ซึ่งหากมีโปรแกรมและอาจรวมถึงเซิร์ฟเวอร์สำหรับเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เหมาะสม ก็จะสามารถแสดงตำแหน่งของคุณเป็นจุดบนแผนที่ของคนอื่นๆ ได้ด้วย นั่นคือที่มาของการใช้งานจีพีเอสในรูปแบบใหม่ที่กึ่งไปทาง social network คุณสามารถจะรู้ได้ว่า ขณะที่คุณกำลังเดินช็อปปิ้งอยู่ที่สยามสแควร์นั้น บังเอิญเพื่อนซี้ในกลุ่มเดียวกันอีกหลายคนก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียง บางคนอาจอยู่บนรถไฟฟ้าที่กำลังแล่นอยู่ บางคนอาจเดินอยู่แถวเซ็นทรัลเวิลด์ ฯลฯ แล้วโทรเรียกให้มากินข้างหรือมาเม้าท์กันได้ในไม่กี่นาที โปรแกรมที่ทำงานในลักษณะนี้ก็มีหลายตัว เช่น Google Latitude หรือ Ipoki (Windows mobile, Symbian, Blackberry), TeamGPS หรือ uTrackMe (iPhone) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้งานลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องความเป็นส่วนตัว ถึงขนาดงานเข้าหรือบ้านแตกได้ถ้าไม่ระวัง เพราะคุณอาจพบว่าหวานใจที่โทรไปหาแล้วบอกว่าเป็นหวัด ขอนอนพักอยู่บ้านเธอมากกว่าจะออกมากับคุณ อย่างน้อยโทรศัพท์มือถือของเธอก็มาเดินเล่นอยู่แถวจตุจักร (ไม่ว่าตัวเธอจะมาด้วยหรือเปล่าก็ตาม อันนั้นต้องไปเคลียร์กันเอาเองนะครับ)
ที่จริงแล้วเทคโนโลยีของ GPS ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร คือสัญญาณจากดาวเทียมนั้นค่อนข้างอ่อน พอเข้าไปในอาคารตำแหน่งก็หายเพราะไม่สามารถรับสัญญาณได้แล้ว ดังนั้นจีพีเอสในมือถือจึงมักต้องอาศัยตัวช่วย คือระบบที่บอกตำแหน่งโดยอ้างอิงกับสถานีฐานหรือเสาสัญญาณของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะบอกอย่างหยาบได้เป็นวงกลมกว้างๆ ที่มีรัศมีหลายร้อยเมตร ไม่เป็นจุดที่แม่นยำอย่างจีพีเอส แต่อย่าเพิ่งตกใจครับ ความจริงผู้ให้บริการมือถือเค้ารู้อยู่เสมอนานแล้วหละว่าคุณอยู่ที่ไหน ถึงแม้จะอยู่ในอาคารหรือใต้ดินก็ตาม เพราะมือถือของคุณต้องเลือกว่าจะติดต่อกับเสาหรือสถานีฐานแห่งไหนของเขาถึงจะโทรออกหรือรับสายได้ (ยกเว้นกรณีอยู่ในที่อับสัญญาณ ซึ่งก็จะโทรไม่ได้ไปด้วย) ไม่เชื่อก็ลองดูในเมนูของบางเครื่องอาจมีวิธีตั้งค่าให้โชว์ชื่อสถานีฐาน (cell site) ที่กำลังใช้อยู่ออกมาได้ แต่ข้อมูลตำแหน่งมันไม่แม่นยำเท่าจีพีเอส และผู้ให้บริการมือถือก็อาจไม่ได้สนใจเก็บข้อมูลนั้นหรือเอาไปบอกใครๆ ด้วย เว้นแต่คุณจะเป็นผู้ที่ผู้รักษากฏหมายตามล่าตัวอยู่ (คงเคยเห็นกันในหนังแล้วว่าตำรวจสามารถติดตามได้ว่าคนร้ายโทรด้วยมือถือจากบริเวณไหน) ดังนั้นหากคุณเปิดระบบที่ส่งสัญญาณผ่านเน็ตไร้สายออกไปบอกใครๆ เองว่ากำลังอยู่ที่ไหนโดยไม่ตั้งใจแล้วละก็ จะโทษใครก็คงไม่ได้นะครับ ตัวใครตัวมันละงานนี้ 555
ปกติมือถือที่มีจีพีเอสจะมีที่ให้ปิดระบบการทำงานที่เกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับสัญญาณจากดาวเทียมเลย (ซึ่งจะประหยัดไฟจากแบตเตอรี่เพิ่มขึ้นด้วย) หรือไม่รันโปรแกรมที่แจ้งตำแหน่งออกไปผ่านเน็ต หรือไม่ก็ปิดการต่อเน็ตไปเลย ทั้งนี้ก็เพื่อความเป็นส่วนตัวของคุณ ที่จะเลือกได้ว่าเมื่อไหร่จึงจะให้คนอื่นรู้ว่าฉันอยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่จะไม่ให้รู้ ขออยู่เงียบๆคนเดียว อะไรทำนองนั้น นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นการส่งตำแหน่งที่อยู่ไปที่เซิร์ฟเวอร์กลาง ก็มักจะมีระบบรักษาความปลอดภัยด้วยว่าจะยอมให้ใครรู้หรือเรียกดูตำแหน่งที่อยู่ของคุณจากเซิร์ฟเวอร์นั้นๆได้บ้าง ทั้งนี้เพราะผู้ใช้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะพวกฝรั่งนั้นเขาก็ซีเรียสเรื่องความเป็นส่วนตัวกันไม่น้อยกว่าเรา
ว่าแต่วันนี้คุณเช็คสถานะระบบบอกตำแหน่งของคุณจากจีพีเอสผ่านเน็ตหรือยังครับ 😉