Cloud Computing คอมพิวเตอร์แบบอึมครึม

(ปี 2526 ? ยุคที่เพิ่งจะเริ่มมีเครื่อง IBM PC ได้ไม่นาน)

บก. เทคนิคของวารสารคอมพิวเตอร์เล่มหนึ่ง เขียนด้วยลายมือขยุกขยิกไว้ในต้นฉบับของบทบรรณาธิการทำนองนี้ ??ในอนาคต คุณอาจเรียกใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย โดยไม่ได้รับรู้เลยว่าโปรแกรมที่คุณเรียกนั้นไปทำงานอยู่บนเครื่องไหน มีเพียงผลลัพธ์เท่านั้นที่ถูกส่งกลับมาแสดงบนเครื่องตรงหน้าคุณ?? เขาเขียนต่อไปจนจบหน้า บรรยายถึงระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่มีอยู่จริง ด้วยหวังว่าจะสร้างภาพอนาคตให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าและโอกาสอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต เขานั่งเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ เพราะยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังแพงเกินกว่าที่ออฟฟิศเล็กๆ จะมีให้ใช้ได้ครบคน น่าเสียดายที่วารสารฉบับนั้นไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ บก. คาดคะเนเอาไว้ในวันที่เกิดขึ้นจริง เพราะมันจำเป็นต้องปิดตัวเองลงหลังจากนั้นไม่นาน

(ปี 2552 ? ที่เราอาจเรียกกันว่า ?ปัจจุบัน?)

บก. คนเดิมนั่งปั่นต้นฉบับ (ปั่น (กริยา) ? การเขียนด้วยความเร็วสูงกว่าปกติเพื่อให้ทันใช้งานแบบฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำหนดส่งงานใกล้จะมาถึง หรือบางทีก็เลยไปแล้วหลายวัน 😉 ให้กับวารสารอีกเล่มหนึ่ง เขาเริ่มต้นด้วยการเปิดบราวเซอร์ขึ้นมา เรียกใช้โปรแกรมGoogle Documents แล้วคีย์ข้อความลงไป ด้วยวิธีนี้ ต้นฉบับของเขาจะถูกเก็บอยู่บนเว็บ และสามารถเรียกใช้ได้จากเครื่องไหนก็ได้ในโลก ขอเพียงมีชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่ถูกต้อง และไม่ว่าคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้จะรันระบบปฏิบัติการอะไร ตั้งแต่ Windows, Mac OS หรือ Linux หรือคุณสามารถทำงานได้สารพัดอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่ากำลังใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องไหนอยู่ จะเป็นเครื่องตั้งโต๊ะขนาดใหญ่ เครื่องเน็ตบุ๊คตัวเล็ก (ในอนาคตคงจะรวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ แต่วันนี้เขายังทำได้แค่เรียกดูเอกสารเท่านั้น แก้ไขยังไม่ได้) ต่างก็สามารถใช้งานได้เท่าๆกัน เขาไม่เคยมีไอเดียเลยว่าเอกสารนี้ถูกเก็บอยู่ในเครื่องที่มุมไหนของโลก หรือโปรแกรมที่ใช้คีย์ข้อมูลแบ่งหน้าที่กันอย่างไรระหว่างหน้าจอที่เขากำลังคีย์เข้าไป กับการจัดเก็บเอกสารในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ รู้แต่ว่าจะเรียกใช้มันอย่างไรเท่านั้น และพอคลิกปุ่ม Save เอกสารทั้งหมดก็จะถูกเก็บไว้ให้เรียกใช้ได้เสมอ (ตราบใดที่เน็ตไม่ล่ม)

บก. คนเดิมนั่งปั่นต้นฉบับไปจนจบ พลางนึกไปถึงวันที่เขาเขียนบรรยายระบบคอมพิวเตอร์ที่ยังมาไม่ถึงนั้น เสียดายว่าถ้าเขารู้ว่ามันจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็อาจจะไปจับไปทำเองเสียตั้งแต่ตอนนั้น ป่านนี้คงจะรวยไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องมานั่งปั่นต้นฉบับอยู่อย่างนี้…

คุณผู้อ่านคงจะพอเดาได้แล้วว่า บก. คนนั้นก็คือผมนั่นเอง และที่ผมกำลังเล่าให้คุณฟังก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์แบบอึมครึม (ศัพท์นี้ผมบัญญัติเอง ห้ามเอาไปตอบข้อสอบที่ไหนทั้งนั้นนะครับ ตกขึ้นมาไม่รับรู้ด้วย) หรือ Cloud Computing ที่กำลังฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน ที่จริงแล้วที่เรียกกันว่า cloud นั้นก็มีที่มาจากรูปก้อนเมฆที่เรานิยมใช้วาดแทนอินเทอร์เน็ตกันนั่นเอง ยุคก่อนตำราอินเทอร์เน็ตเล่มไหนก็ต้องเริ่มด้วยคอนเซ็ปต์ว่ามันคืออะไร ซึ่งก็มักจะวาดรูปเป็นคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องที่เชื่อมต่อเข้ากับก้อนเมฆ ซึ่งไม่รู้ว่าข้างในเมฆมีอะไร นั่นแหละคือที่ผมบอกว่ามัน “อึมครึม” ไงล่ะครับ แต่เดี่ยวนี้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นของสามัญที่ใครๆก็ใช้กันจนเราไม่สนว่าจะวาดมันเป็นก้อนเมฆหรืออะไรอีกต่อไปแล้ว บอกว่าเชื่อมต่อเน็ตได้ก็คือทำได้ทุกอย่างแล้วและในเมื่อไม่รู้ว่าข้างใน cloud มันมีอะไร เขามีมาให้ใช้ (ฟรีด้วย) เราก็เลยใช้กันไปสารพัดอย่าง บางคนอาจเถียงว่าบางงานที่ใช้กำลังเครื่องมากๆ ต้องทำที่เครื่องของเราจะดีกว่า แต่บางงานนั้นในทางกลับกันก็ไม่มีทางทำได้เลยที่เครื่องของเรา ตัวอย่างง่ายๆคือการค้นหาข้อมูลบนเน็ต ที่ต้องมีข้อมูลหน้าเว็บจำนวนมหาศาลเตรียมเอาไว้ หรือแม้แต่การค้นหาชื่อเพลงจากเสียงตัวอย่างที่บันทึกด้วยสมาร์ทโฟนอย่างโปรแกรม Shazam หรือ Midomi บน iPhone ก็ต้องเอาไฟล์ MP3 ทั้งโลกมากองถึงจะค้นเจอ อย่างนี้ไม่มีทางเอามาทำงานบนเครื่องของเราได้แน่ แค่ส่งข้อมูลคำค้น หรือตัวอย่างเสียง หรืออะไรที่มันเล็กพอจะวิ่งผ่านเน็ตได้ไปแทน แล้วรอผลลัพธ์กลับมาก็พอ ส่วนที่ว่าส่งไปแล้วจะไปใช้โปรแกรมอะไร ค้นที่ไหน ฯลฯ ไม่รับรู้ ปล่อยให้มันอึมครึมไปอย่างนั้นแหละจะดีกว่า

ระหว่างที่ผู้ใช้อย่างเราใช้กันเพลินอยู่นั้น ทางผู้พัฒนาทั้งเครื่องและฮาร์ดแวร์ที่รองรับระบบ Cloud Computing ต่างก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อให้สามารถกระจายงานออกไปยังเครื่องต่างๆที่เชื่อมต่อกันผ่านเน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งรายละเอียดจะเป็นยังไงก็ช่างมันเถิด เพราะถึงจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลังบ้านไปอย่างไร หน้าบ้านที่เราเรียกใช้งานก็ยังคงเหมือนเดิม สิ่งสำคัญที่เราน่าจะรู้ก็คือว่า ลักษณะของ Cloud Computing โดยทั่วไปก็คือ

  • On-demand self-service เรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอใครจัดการให้
  • Network Access เรียกใช้ผ่านเน็ตได้จากทุกที่
  • Resource Pooling ผู้ใช้หลายๆคนใช้งานทรัพยากร (กำลังเครื่อง ที่เก็บข้อมูล ฯลฯ) ร่วมกัน
  • Rapid Elasticity เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว เดี๋ยวแบ่งทรัพยากรให้คนโน้นคนนี้ใช้ก็ได้ ไม่เก็บไว้นาน
  • Measured Service วัดปริมาณการใช้งานได้ อันนี้สำคัญครับเพราะจะได้รู้ว่าใครใช้มากน้อยเท่าไหร่ เหมือนกับน้ำประปาหรือไฟฟ้า ส่วนเมื่อวัดได้แล้วจะไปเก็บตังค์ หรือให้บริการฟรีตลอดหรือลูกผสม เช่น ใครใช้น้อย ฟรี ใครใช้มากคิดเงินบางส่วน ฯลฯ ก็แล้วแต่ business model ว่าใครจะหาเงินแบบไหน
Cloud Computing

Cloud Computing

ดูจากรูปประกอบ คุณอาจจะพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่าใครบ้างที่เปิดให้ใช้บริการแบบ Cloud Computing กันอยู่บ้างพอเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็มีทั้ง Search และสารพัดบริการฟรีอย่างของ Google, Yahoo, Microsoft ไปจนถึงบริการแอพพลิเคชั่นเฉพาะด้านอย่าง Salesforce.com ซอฟต์แวร์บริหารการขายที่ดังไปทั่วโลก ซึ่งต้องสมัครสมาชิกจึงจะใช้ได้ และอาจมีการเก็บเงินสำหรับบริการบางลักษณะหรือ Amazon ซึ่งใช้ระบบ Cloud Computing ในการให้บริการตั้งแต่การซื้อขายหนังสือและสินค้าอื่นๆสารพัดอย่าง ไปจนถึงการเปิดร้านค้าร่วม ไม่นับองค์กรอีกมากมายที่อาจนำ Cloud Computing มาใช้ในเครือข่ายเฉพาะของตนเอง หรือให้บริการเฉพาะกลุ่มลูกค้าของตน ซึ่งก็จะสามารถรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้อย่างสบาย จะเพิ่มหรือขยายแบบค่อยเป็นค่อยไปตามปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นก็ได้

สรุปก็คือ Cloud Computing กลายเป็นโมเดลใหม่ทั้งในเชิงเทคนิคและการใช้งานธุรกิจไปแล้ว เพราะเป็นของที่ใครๆก็ต้องใช้แบบไม่รู้ตัว เพียงแต่ว่าด้วยความที่มันเป็นอะไรที่อึมครึม เราก็เลยไม่ค่อยจะได้สังเกตกัน มันอึมครึมถึงขนาดที่ว่าผู้ที่ให้บริการ Cloud Computing นั้น หากเป็นองค์กรขนาดเล็กที่ไม่ต้องการจะมีเครื่องไว้ใช้เอง เพราะดูแลไม่ไหว ก็สามารถจัดตั้งระบบขึ้นมาได้โดยเสียค่าบริการให้กับผู้ที่ลงทุนหรือใช้อยู่แล้ว แล้วเอามาแบ่งต่อ โดยอาจเสียค่าบริการตามปริมาณที่ใช้ (ไม่ใช่เช่าเป็นเดือนหรือเป็นปี) เช่นเดียวกับที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้นั่นเอง ก็ตามที่บอกไปแล้ว (ข้อสุดท้าย) ว่าของมันต้องวัดได้ว่าใช้ไปมากน้อยเท่าไหร่ จะได้คิดเงินได้แบบน้ำประปาหรือไฟฟ้า เพียงแต่ใครจะคิดเงินกันแบบไหนเท่านั้นเอง

ก่อนจะจบ ทุกครั้งที่ต่อเน็ต ต่อไปอาจจะถามกันว่า “วันนี้คุณใช้ Cloud Computing แล้วหรือยัง”